ถุงลมนิรภัย

ปัญหาของถุงลมนิรภัยด้านข้าง (2)

คาร์ แอนด์ เมดิคอล ครั้งนี้ ยังจับกระแสถุงลมนิรภัยด้านข้างต่อ โดยข่าวคราวล่าสุดที่ได้มา ขณะนี้ หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ ที่ดูแลเรื่องความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน - NHTSA ได้เริ่มแสดงความห่วงใย ต่อปัญหาที่เกิดจากถุงลมนิรภัยด้านข้างแล้ว อย่างที่เคย นำเสนอข้อมูลบางส่วนไปแล้ว

NHTSA แสดงความวิตกว่า ถุงลมนิรภัยด้านข้างในที่นั่งหลัง อาจจะทำอันตรายร้ายแรง ต่อเด็กที่นั่งใกล้ หรือพิงประตู ได้จริงๆ และกำลังจะทำการทดสอบ โดยใช้หุ่นทดสอบเด็ก อายุ 3 ขวบ ซึ่งนั่งในตำแหน่งดังกล่าว

แม้ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากการทำงาน ของถุงลมนิรภัยด้านข้าง แต่รัฐบาลสหรัฐ ก็ไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาดดังกล่าว เช่นเดียวกับที่เกิดมาแล้ว กับถุงลมนิรภัยด้านหน้าอีก จึงรีบดำเนินการทดสอบ และหามาตรการเฝ้าระวังไว้ล่วงหน้าดังกล่าว

เบนซ์ ออดี้ บีเอ็มดับบลิว ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถที่มีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ขายอยู่ในอเมริกา ออกมายอมรับท่าทีดังกล่าว โดยทางบีเอ็มดับบลิว และออดี้ ยอมรับว่า การทดสอบของบริษัท ก็ชี้ว่าเด็กเล็ก ที่นั่งใกล้ประตู สามารถได้รับบาดเจ็บ จากการพองตัวของถุงลมนิรภัยด้านข้างได้  และได้ทำการเตือนผู้ใช้รถออกมาแล้ว โดยออดี้ ได้ระบุไว้ในคู่มือประจำรถว่า

"A child must never rest his/her head against the side trim panel in the area where the side air bag inflates. An inflating air bag can cause serious or fatal injury."

แต่โฆษกของเบนซ์ ออกมาปฏิเสธว่า การทดสอบของเบนซ์เอง ไม่พบผลดังกล่าวแต่อย่างไร แต่แหล่งข่าวของ NHTSA ระบุว่า การทดสอบของหน่วยงานรัฐแห่งนี้ ก็พบการบาดเจ็บ จากถุงลมนิรภัยด้านข้าง ในรถเบนซ์เช่นกัน

ปฏิกิริยาที่เป็นรูปธรรม จากบีเอ็มดับบลิวขณะนี้ คือการให้โอกาสลูกค้า เลือกจะตัดระบบการทำงาน ของถุงลมนิรภัยด้านข้างออกไปได้ ถ้าต้องการ โดยรถทุกคันที่ส่งถึงโชว์รูม จะติดตั้งวงจรการทำงาน ของถุงลมนิรภัยด้านข้างไว้ และจะตัดการทำงานออก ตามคำสั่งลูกค้า

แม้รถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง ในที่นั่งหลัง จะยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่ก็มีหลายรุ่น ที่มีถุงลมนิรภัยด้านข้าง ในที่นั่งหน้า เมื่อร่วมกับพฤติกรรมการใช้รถของคนไทย ที่ยังนิยมให้เด็กนั่งในที่นั่งหน้า และไม่มีอุปกรณ์ยึดรั้งตัว หรือบางคนใช้วิธีอุ้ม แล้วศีรษะเด็กเข้าไปใกล้ หรือชิดอยู่กับตำแหน่งของถุงลมนิรภัยด้านข้าง ลักษณะดังกล่าว ก็อาจทำให้เกิดอันตรายจากการพองตัว ของถุงลมนิรภัยด้านข้างขึ้นได้เช่นกัน

18/4/42