ถุงลมนิรภัย
 
ความกังวล เกี่ยวกับถุงลมนิรภัยด้านข้าง (ก.ย.2541)

มีรายงานใหม่ จากอังกฤษ ถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหา ที่จะเกิดจากถุงลมนิรภัยด้านข้าง ซึ่งติดตั้งในที่นั่งหลัง  โดยในขณะนี้ มีการติดตั้งแล้วใน บีเอ็มดับบลิว ซีรี่ส์ 3 ใหม่

รายงานดังกล่าวระบุว่า  ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกต ถึงอันตรายที่จะเกิดขี้นได้ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ซึ่งปกติที่นั่งหลัง เป็นที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กอยู่แล้ว  ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า  ถุงลมนิรภัยด้านข้าง ที่ติดตั้งอยู่ที่บานประตู จะทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อเด็กได้

โดยทั่วไป ถุงลมนิรภัยด้านข้าง จะมี 2 แบบ คือติดตั้งกับที่นั่งด้านข้าง หรือติดตั้งกับแผงประตู  ซึ่งจะวางตำแหน่งไว้ ให้พองตัวออกมา รองรับบริเวณหน้าอกของผู้ใหญ่พอดี  และการพองตัวของถุงลมนิรภัยด้านข้างนี้ จะใช้เวลาสั้นกว่าถุงลมนิรภัยด้านหน้ามาก  ทีนี้ลองมานึกถึงเด็กเล็กๆ ที่มีความสูงไม่มาก ศีรษะแทบจะไม่พ้นขอบกระจก  เมื่อนั่งอยู่ในที่นั่ง ตำแหน่งของถุงลมนิรภัย แทนที่จะระเบิดมาตรงกับหน้าอก แต่จะไปตรงกับส่วนศีรษะ หรือคอของเด็กแทน

เหตุการณ์สมมติที่อาจเกิดขึ้นคือ ถ้าเด็กนั่งหลับอยู่ในที่นั่งหลัง แล้วพิงเข้ากับแผงประตู ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดอยู่เป็นประจำ  ในขณะนั้นรถถูกพุ่งเข้าชนด้านข้าง ไปกระตุ้นให้ถุงลมนิรภัยทำงาน  คงพอจะเดาได้ว่า  ผลที่ตามมาคือ ถุงลมที่พองตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกระแทกเข้ากับศีรษะของเด็กที่พิงอยู่ อย่างรุนแรง  และอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บตามมาได้

ยังไม่มีการทดลองในห้องปฏิบัติการ เกี่ยวกับกรณีสมมตินี้ แต่แหล่งข่าวระบุว่า บีเอ็มดับบลิว ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และออกคำเตือนผู้ที่ใช้ซีรี่ส์ 3 ใหม่ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างดังกล่าวแล้ว  ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่น ยังรอดูความคืบหน้า และปล่อยให้บีเอ็มเป็นด่านหน้าไปก่อน

ถ้านำกรณีนี้มาวิเคราะห์ กับพฤติกรรมการใช้รถในบ้านเรา คงเห็นด้วยว่า แม้ในที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากในบ้านเรา การให้เด็กนั่งหน้า เป็นเรื่องปกติวิสัยที่ทำกันเป็นประจำ  ดังนั้น ในรถที่มีถุงลมนิรภัยด้านข้าง แล้วปล่อยให้เด็กงีบหลับ ไปพิงอยู่กับแผงประตูเข้า ถ้าถูกชนด้านข้างจนถุงลมนิรภัยทำงาน  ก็จะมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บ อย่างที่มีผู้ตั้งข้อสงสัยไว้ข้างต้นได้เช่นกัน


การวิเคราะห์ผลกระทบจากถุงลมนิรภัย (พ.ค. 2540)

                หลังจากข้อมูลเกี่ยวกับการที่มีผู้เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยจำนวนกว่า 50 คน ได้รับการเปิดเผยจาก NHTSA ( NATIONAL HIGHWAY TRAFFIC SAFETY ADMINISTRATION ) ของสหรัฐอเมริกา  ถุงลมนิรภัยจึงกลายเป็นของร้อนขึ้นมา  มีการพูดถึงกันมากมายหลายครั้ง

                 ต่อไปนี้เป็นข้อมูลรายละเอียดจาก NHTSA ตีพิมพ์ใน CAR AND DRIVER ที่เราๆท่านๆน่าจะสนใจ  และคงต้องร่วมใช้วิจารณญาณกันดูครับ

                ในรายงาน ผู้ใหญ่  19 คน ที่เสียชีวิตนั้น  มีอยู่  10  คน  ไม่ใส่เข็มขัดนิรภัย,  1  คน ใส่เข็มขัดนิรภัยผิดวิธี  และอีก 2  คน  ไม่รู้ว่าใส่หรือไม่  เพราะฉะนั้นจึงเหลือ 6 คนที่ใส่เข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้อง  แต่ 2 ใน 6  มีหลักฐานว่าหมดสติและฟุบลงกับพวงมาลัยก่อนชน  ดังนั้น  4 ใน 19  คนคือผู้ที่ใส่เข็มขัดนิรภัยถูกต้องและเสียชีวิตจากการถูกแอร์แบ็กกระแทก  โดยที่ทั้งหมดเป็นผู้หญิง  และ 3 ใน 4 คนมีความสูงอยู่ระหว่าง 145 - 160 เซนติเมตร

                ถ้าดูในภาพรวม  บังเอิญเหลือเกินที่ 15 คนจาก 19 คนที่เสียชีวิต ก็เป็นผู้หญิง !!

                มาดูในด้านของเด็กกันบ้าง  เด็ก 40 คน ที่เสียชีวิต 19 คนนั่งอยู่ในเบาะหน้าโดยไม่มีอะไรยึดรัดตัวเลย,  14 คนนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ชนิดหันหน้าไปท้ายรถ (REAR-FACING CHILD SEAT)  แต่นำมาวางไว้ที่เบาะหน้าซึ่งไม่ถูกต้องอยู่แล้ว, 4 คนใส่เข็มขัดนิรภัยชนิด 2 จุด อีก 1 คน ไม่รู้ว่าใส่หรือไม่

                จึงเหลืออยู่ 2 ใน 40 คนที่ใช้อุปกรณ์นิรภัยครบถ้วนถูกต้อง และเสียชีวิตจากแอร์แบ็ก

                มองในแง่ดี ตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตเพราะถูกถุงลมนิรภัยกระแทก เป็นสาเหตุเดี่ยวๆอย่างชัดเจน มีไม่มากอย่างที่ตกอกตกใจกัน ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต เป็นกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์นิรภัยกันไม่ถูกต้องครบถ้วน และมีแอร์แบ็กเป็นปัจจัยร่วม

                ในอีกด้านหนึ่ง   ผู้เสียชีวิตทั้งหมดพบว่าเกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะและคอเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะต่อการถูกกระแทกโดยถุงลมนิรภัย  และทั้งหมดเกิดอุบัติเหตุที่ความเร็วต่ำกว่า24 กม/ชม.  ( 15 ไมล์/ชม.)  ทั้งหมดที่เสียชีวิตมีหลักฐานชัดเจนว่าถุงลมนิรภัยเป็นสาเหตุหนึ่งด้วยอย่างแน่นอน  ไม่มีใครรู้ว่าในกลุ่มที่หลักฐานไม่ชี้ชัดและไม่ได้รวมข้อมูลไว้ด้วยนั้น มีเหยื่อของแอร์แบ็ก มากไปกว่านี้อีกหรือไม่

                การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า  เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีที่อยู่ในที่นั่งหน้า ซึ่งติดตั้งแอร์แบ็ก มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าในรถที่ไม่มี แอร์แบ็ก 28 เปอร์เซนต์  ทางแก้ปัญหาสำหรับเด็กควรจะให้เด็กอยู่ในที่นั่งหลัง และใช้อุปกรณ์เสริม ให้ถูกต้องกับอายุและขนาดของเด็ก  หรือตัดถุงลมนิรภัยสำหรับด้านผู้โดยสารออก ไปเป็นออปชั่นให้เลือกจะติดตั้งหรือไม่ติดตั้งก็ได้  ซึ่งเป็นทางปฏิบัติที่ใช้กันในยุโรป  แต่ในขณะที่ในอเมริกาถูกกฎหมายบังคับให้รถทุกคัน ต้องติดตั้งถุงลมนิรภัยทั้งสองด้านภายในเดือนกันยายน 1997 นี้
 
                สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ต้องนั่งเผชิญหน้ากับถุงลมนิรภัย  การใส่เข็มขัดนิรภัยเสมอนั้นเพียงพอต่อการป้องกันหรือไม่?

                ลองย้อนไปดูตัวเลขข้างบนอีกครั้งดูครับ  ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีร่างเล็ก  ซึ่งจำเป็นต้องนั่งใกล้พวงมาลัยมากกว่าปกติ  นี่เป็นเรื่องที่กำลังวิตกกันมากในอเมริกา  แล้วผู้หญิงไทยล่ะครับ  ผมว่าส่วนใหญ่ทีเดียวที่เข้าข่าย "ร่างเล็ก" อย่างที่ว่านี้

                การจะดูต้นสายปลายเหตุ  คงต้องกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ของถุงลมนิรภัยในอเมริกา ที่เริ่มพัฒนาขึ้นในราวปี 1970 เมื่อจะนำมาใช้งานจริงรัฐบาลจึงออกระเบียบควบคุมขึ้นคือ FMVSS 208 ( FEDERAL MOTOR VEHICLE SAFETY STANDARD)  ให้ถุงลมนิรภัย เป็นอุปกรณ์ป้องกันผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ไม่ได้ใส่เข็มขัดนิรภัยเป็นหลัก เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน NHTSA กำหนดให้ทดลองโดยใช้ความเร็วในการชน 48 กม./ชม. กับหุ่นทดลองที่มีน้ำหนัก 75 กก.

                ผลการทดลองที่จะพิสูจน์ได้ว่าหุ่นทดลองปลอดภัย อ่านจากเซนเซอร์ซึ่งติดตั้งที่ศีรษะและหน้าอกของหุ่นโดยแรงกระแทก ไม่เกินเกณฑ์ที่ระบุไว้ ถุงลมนิรภัยจึงต้องพองตัวอย่างเร็วและแรง ให้ทันที่จะหยุดยั้งการเคลื่อนที่ของหุ่น ไม่ให้พุ่งมาด้านหน้ามากนัก

                ข้อมูลจากห้องทดลองโดยผู้ผลิตรายหนึ่งระบุว่า  แรงกระแทกที่เกิดต่อหุ่นโดยทั่วไปจะมีค่าประมาณ 1600 ปอนด์เมื่อปะทะกับถุงลมนิรภัย  ณ จุดที่มันขยายตัวเต็มที่แล้ว  แต่ถ้าผู้ขับขี่อยู่ใกล้พวงมาลัยมากกว่าปกติในรัศมี 0 ถึง 2 นิ้วจากจุดที่ถุงลมพองตัวสูงสุด  แรงกระแทกจะเพิ่มขึ้นได้เป็น 4000 ถึง 5000 ปอนด์   ในการทดลองแรงปะทะที่เกินกว่า 3000 ปอนด์ก็สามารถก่ออันตรายกับมนุษย์ได้แล้ว

                ผู้เคราะห์ร้าย 15 ใน 19 คนที่เป็นผู้หญิง มีรูปร่างเตี้ยกว่า (ในสายตาฝรั่ง!) ทำให้ต้องเลื่อนที่นั่งใกล้พวงมาลัยกว่าปกติ  จึงมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในกลุ่มที่ว่านี้

                ในขณะนี้มีความเห็นหลากหลายมากในการหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าว  ยังคงอีกหลายปีกว่าที่ จะพัฒนามาติดตั้งในเชิงพาณิชย์ได้

                ผู้ขับขี่บ้านเรา  มีไม่น้อยที่อยู่ในข่ายค่อนข้างเสี่ยงที่ว่า ใครที่รู้ตัวว่าความสูงน้อยเข้าเกณฑ์ จึงควรจะซีเรียสกับการใช้เข็มขัดนิรภัยให้มากกว่าปกติด้วยครับ ส่วนเด็กนั้นคงต้องพิจารณาเป็นรายๆไป  ที่นั่งหลังปลอดภัยที่สุด ถ้าจะไว้ที่นั่งหน้าต้องรัดเข็มขัดนิรภัยเสมอ
 

             SMART AIRBAG คือการติดตั้งอุปกรณ์ประมวลข้อมูลต่างๆ  เช่น รูปร่างผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร  ตำแหน่งที่นั่งที่ปรับไว้  การใส่เข็มขัดนิรภัย  ความเร็วรถขณะชน  แล้วนำไปคำนวณเพื่อกำหนดความรุนแรงและเวลาที่แอร์แบ็กจะทำงาน


แนวทางใหม่ของแอร์แบ็ก(มิ.ย.2540)

                ข้อมูลต่างๆที่จะนำเสนอนี้  เป็นแนวทางที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา  ไม่ทราบเหมือนกันว่า  ในเมืองไทยมีรถยี่ห้อไหนใช้หรือไม่ใช้มาตรฐานแอร์แบ็กของลุงแซม  แต่คิดว่าคงมีอยู่หลายเจ้าเพราะรถยนต์ในตลาดโลก  ส่วนใหญ่มักจะออกแบบให้ผ่านมาตรฐานของอเมริกาที่เป็นตลาดยักษ์ใหญ่

                อย่างที่เกริ่นถึง FMVSS 208 ไว้ว่า  ในเบื้องต้นได้กำหนดจุดประสงค์ของถุงลมนิรภัยคือ เป็นอุปกรณ์ปกป้องผู้ขับขี่ที่ ไม่ใส่ เข็มขัดนิรภัย ต้องเน้นตรงนี้อีกทีครับ เพื่อจะได้เข้าใจผลที่จะพูดถึงตามมา  การถูกตั้งเงื่อนไขเบื้องต้นดังกล่าว  ทำให้แนวทางการพัฒนาต้องให้มีความแรงในการพองตัวพอสมควร เพื่อจะออกมายันลำตัวผู้ขับขี่ได้ทัน ก่อนที่จะพุ่งไปด้านหน้าจากความเฉื่อยที่เกิดขึ้นจากการชน  แต่ผลในการใช้งานจริงกลับกลายเป็นว่า  ความรุนแรงดังกล่าวมากเสียจน ไปก่อผลข้างเคียงกับผู้ที่ใส่เข็มขัดนิรภัยเข้าด้วย  และพลอยลุกลามไปถึงเด็กเล็กๆที่นั่งด้านหน้า สถานการณ์ปัจจุบันคือ  ผู้ที่ไม่ใส่เข็มขัดนิรภัยจะมีอัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัย  แทนที่จะได้รับการป้องกันจากถุงลมนิรภัย  จึงแนะนำกันว่าผู้ขับขี่รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย  ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ

                การวิเคราะห์ของ NHTSA ชี้ว่า  ผู้โดยสารที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการใส่เข็มขัดนิรภัย  หรือใช้เก้าอี้นิรภัยให้ถูกต้องสมควรแก่วัยของเด็ก  ในขณะที่ฝั่งผู้ขับขี่ผู้ที่เสี่ยงมากคือผู้สูงอายุ  และผู้ที่มีรูปร่างเตี้ย  สถิติที่รวบรวมได้แสดงว่า  ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตมีส่วนสูงน้อยกว่า 5 ฟุต 2 นิ้ว (155 ซม) ข้อสันนิษฐานคือคนกลุ่มนี้นั่งใกล้พวงมาลัยมากเกินไป  และมีบางบริษัทแล้วที่ผลิตอุปกรณ์ช่วยหนุนแป้นเหยียบ  (Pedal Extender) ออกมาขาย สำหรับให้คนรูปร่างค่อนข้างสั้นได้นั่งห่างพวงมาลัยมากขึ้น
 
 
 
                อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบการชนพบว่า  ในผู้ที่ตัวเตี้ยซึ่งต้องนั่งชิดพวงมาลัยอย่างนั้น  ถ้าไม่มีแอร์แบ็กมาช่วยยันไว้  ก็คงจะกระแทกเข้ากับพวงมาลัยอย่างแรงจนได้รับบาดเจ็บเช่นกัน ตามภาพทางขวา  แต่ถ้ามีแอร์แบ็กก็จะรับการกระแทกไว้อย่างในภาพทางซ้าย
 

                ต้องย้ำกันก่อนว่ามีคนจำนวนมากที่รอดมาได้เพราะแอร์แบ็ก  แต่ทำอย่างไรอุปกรณ์ชิ้นนี้จะไม่ต้องพรากชีวิตคนกลุ่มน้อยๆกลุ่มหนึ่ง  ไปแลกกับการรักษาชีวิตคนกลุ่มใหญ่ จึงต้องมีมาตรการแก้ไข  ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ Smart Airbag ซึ่งมีเส้นตายอยู่ที่กลางปี 2001 ช่องว่างที่เหลืออยู่อีกหลายปีจึงต้องลดความเสี่ยงของผู้ใช้รถยนต์ลงมาบ้าง

                ยังไม่ทราบว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาถึงเมืองไทยเมื่อไร  แต่ในขณะที่เรายังต้องใช้ถุงลมนิรภัยรุ่นปัจจุบันกันอยู่  นอกจากเด็กเล็กที่ต้องระวังอย่างดีแล้ว  ผู้ขับขี่และผู้โดยสารยังไว้วางใจกับแอร์แบ็กได้  แต่ขอให้ยึดหลักว่า นั่งห่างเข้าไว้ ใส่เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง



 
15คำถามกับการใช้แอร์แบ็ก

                ข้อแนะนำต่างๆข้างล่างนี้  รวบรวมมาจาก QUESTIONS & ANSWERS REGARDING AIRBAGS ของ NATIONAL HIGHWAY TRAFFIC SAFETY ADMINISTRATION (NHTSA) โดยตัดตอนบางส่วนที่คาดว่าจะมีประโยชน์กับการใช้รถยนต์ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยในประเทศไทย มานำเสนอ

ถาม รถยนต์ใหม่ในอเมริกาทุกคันต้องมีแอร์แบ็กหรือไม่  เป็นไปได้ไหมที่จะเลือกซื้อรถที่ไม่ติดตั้งแอร์แบ็ก
ตอบ ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นไป กฎหมายกำหนดให้รถยนต์นั่งทุกคันที่จำหน่ายในอเมริกาต้องมีแอร์แบ็กทั้งสองข้าง เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และจะมีผลต่อรถบรรทุกเล็กทุกคันในปี 1999
 
ถาม ตามที่ NHTSA กำหนดให้มีการติดตั้งแอร์แบ็กแบบลดความแรง (DEPOWERED AIRBAG) ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ  จะสามารถเปลี่ยนแอร์แบ็กที่ใช้อยู่ในรุ่นปัจจุบันเป็นแอร์แบ็กชนิดใหม่ได้หรือไม่
ตอบ มาตรฐานใหม่นี้เพื่อลดความรุนแรงในการพองตัวลง 25-30 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบัน และจะบังคับใช้กับรถที่ผลิตออกมาใหม่ ไม่ครอบคลุมถึงรถที่ผลิตออกไปแล้ว


ถาม สามารถติดตั้งเก้าอี้เด็กแบบหันหน้าไปท้ายรถ ในที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าได้หรือไม่
ตอบ ไม่โดยเด็ดขาด เว้นแต่จะมีสวิทช์ตัดการทำงานของถุงลมนิรภัยด้านผู้โดยสารโดยเฉพาะ และได้ตัดการทำงานไปแล้ว  อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำว่าที่นั่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีลงมาคือที่นั่งด้านหลัง 



ถาม ถ้าเช่นนั้น สำหรับเก้าอี้เด็กที่ติดตั้งแบบธรรมดา จะสามารถติดตั้งในที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าที่ว่านี้ได้ไหม
ตอบ NHTSA แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีทุกคน ควรโดยสารในที่นั่งด้านหลังซึ่งเป็นบริเวณที่ปลอดภัยที่สุด ถ้าไม่มีทางเลือกและต้องการนำมานั่งในที่นั่งด้านหน้าจริงๆ ต้องจัดให้เด็กนั่งโดยมีอุปกรณ์นิรภัยคาดไว้กับลำตัวอย่างถูกต้อง และเลื่อนเก้าอี้ไปด้านหลังเพื่อให้เด็กอยู่ห่างจากแอร์แบ็กให้มากที่สุด


ถาม ในกรณีเด็กโตที่ไม่จำเป็นต้องใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กแล้ว จะให้เด็กนั่งในที่นั่งด้านหน้าของรถยนต์ที่ติดตั้งแอร์แบ็กได้หรือไม่ จะมีอันตรายไหมถ้าแอร์แบ็กทำงานขึ้นมา
ตอบ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเด็กควรโดยสารในที่นั่งหลัง เว้นแต่กรณีที่จำเป็นต้องให้นั่งด้านหน้าจริงๆ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาและขอเพิ่มเติมว่าเด็กต้องนั่งพิงพนักอยู่เสมอ ระวังอย่าให้เด็กโน้มตัวมาด้านหน้าบ่อยๆ และระวังไม่ให้เข็มขัดนิรภัยหย่อนจนเกินไป ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันดีว่าบางครั้งยากที่จะควบคุมเด็กให้อยู่นิ่งได้


ถาม NHTSA ใช้เกณฑ์อะไรที่กำหนดว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีควรจะนั่งในที่นั่งหลัง  จะพิจารณาจากความสูงหรือน้ำหนักตัวของเด็กดีกว่าไหม
ตอบ ในการแนะนำดังกล่าวสำหรับรถที่ติดตั้งแอร์แบ็กด้านผู้โดยสาร NHTSA พิจารณาจากอุบัติการการเสียชีวิตที่เกิดจากเด็กถูกกระแทกโดยแอร์แบ็ก  จากหลักฐานจริงๆแล้วพบว่าไม่มีเด็กอายุเกินกว่า 9 ปีเสียชีวิตจากกรณีดังกล่าว  ส่วนการจะกำหนดโดยส่วนสูงหรือน้ำหนักตัวนั้นคงไม่สามรถจะทำได้ เพราะรถยนต์แต่ละรุ่นจะมีความรุนแรงในการทำงานของแอร์แบ็กต่างกันออกไป  จึงยากที่จะสรุปเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ถาม สำหรับผู้ขับขี่ทีมีรูปร่างเตี้ยและจำเป็นต้องนั่งใกล้พวงมาลัย  จะมีวิธีการหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บจากแอร์แบ็กได้อย่างไร
ตอบ ก่อนอื่นต้องย้ำว่า ผู้ขับขี่ที่ได้รับการปกป้องจากแอร์แบ็ก  มีสัดส่วนสูงกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากแอร์แบ็กมากนัก  และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ มักเนื่องมาจากไม่ใส่เข็มขัดนิรภัย  ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถที่ติดตั้งแอร์แบ็กทุกคนต้องสวมใส่เข็มขัดนิรภัย   และนั่งให้ห่างจากพวงมาลัยมากที่สุดเท่าที่ยังสามารถควบคุมรถยนต์ได้โดยสะดวก  ในกรณีที่ผู้ขับขี่มีรูปร่างเตี้ยก็ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกัน  อาจจะใช้การเอนพนักพิงเบาะไปด้านหลังเล็กน้อยเพื่อเพิ่มระยะห่างจากหน้าอกถึงพวงมาลัย  นอกจากนั้นแขนที่ควบคุมพวงมาลัยจะอยู่ที่ด้านข้างของพวงมาลัยทั้งสองด้าน  ไม่ใช่พาดขวางอยู่ระหว่างคนขับกับพวงมาลัย  เพื่อให้แอร์แบ็กมีเนื้อที่ในการพองตัวมากที่สุด  และหลีกเลี่ยงโอกาสที่แขนจะได้รับบาดเจ็บรุนแรง 

ถาม  ผู้ที่มีส่วนสูงเท่าไร  น้ำหนักเท่าไร  ที่จัดว่าเสี่ยงต่ออันตรายจากแอร์แบ็ก
ตอบ  ไม่มีการระบุชัดเจนในประเด็นนี้  ขอให้พึงระวังไว้ว่าปัจจัยสำคัญที่จะชี้ถึงอัตราเสี่ยงจากแอร์แบ็กที่พองตัวอย่างรวดเร็ว คือระยะห่างระหว่างตัวคุณกับแอร์แบ็กนั่นเอง 

ถาม  ถ้าอย่างนั้น ระยะห่างขนาดไหนที่เข้าข่ายว่าค่อนข้างปลอดภัย
ตอบ  ไม่มีระยะที่แน่นอน  เพราะในรถยนต์แต่ละรุนจะมีความรุนแรงในการพองตัวต่างกัน  ยิ่งห่างโดยยังควบคุมรถได้ด้วยดีก็ยิ่งปลอดภัย
(มีการชี้แจงภายหลังว่าอย่างน้อย ระยะห่างจากผู้ขับจขี่ถึงพวงมาลัยต้องมากกว่า 10 นิ้วขึ้นไป)


ถาม สำหรับผู้โดยสารที่เป็นผู้ใหญ่จะปลอดภัยไหม  ที่จะนั่งในที่นั่งด้านหน้าที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้วย
ตอบ  ปลอดภัยแน่นอน  แต่ต้องไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ  เลื่อนเบาะไปด้านหลังมากๆ  อาจจะเอนพนักพิงเบาะไปด้านหลังเล็กน้อย  ระวังอย่าให้สายเข็มขัดนิรภัยหย่อน


ถาม แล้วคนแก่ล่ะ  จะเป็นอันตรายไหมถ้านั่งในที่นั่งด้านหน้าที่ติดตั้งแอร์แบ็กร่วมด้วย
ตอบ ในกรณีผู้สูงอายุก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อที่แล้ว


ถาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ จะปลอดภัยไหมที่จะนั่งอยู่หน้าแอร์แบ็ก
ตอบ ในขณะนี้ NHTSA กำลังรวบรวมผลของแอร์แบ็กต่อผู้ตั้งครรภ์อยู่ จนถึงปัจจุบันนี้ยังแนะนำว่า ผู้ที่ตั้งครรภ์ก็ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยเสมอ  ให้สายรัดไหล่พาดผ่านกระดูกไหปลาร้า สายรัดเอวพาดใต้หน้าท้องให้ต่ำที่สุด ผ่านบริเวณสะโพกทั้งสองข้าง  อย่าพาดด้านบนหน้าท้องโดยเด็ดขาด และให้นั่งห่างจากแอร์แบ็กที่สุดเท่าที่จะทำได้


ถาม เข็มขัดนิรภัยแบบ Pretensioner และ Tensioner คืออะไร และจะช่วยปกป้องในกรณีเกิดอุบัติเหตุได้ดีเพียงไร
ตอบ เข็มขัดนิรภัยดังกล่าว จะดึงรั้งตัวคุณมาด้านหลังโดยอัตโนมัติเวลาที่เกิดการชนกันขึ้น  มีการติดตั้งในรถยนต์รุ่นใหม่ๆและเมื่อใดที่เข็มขัดนิรภัยชนิดนี้ทำงานขึ้นมา ต้องถอดเปลี่ยนใหม่


ถาม ในรถที่มีพวงมาลัยชนิดที่ปรับความสูงต่ำของพวงมาลัยได้  ควรจะปรับไว้ที่ตำแหน่งไหนที่จะทำให้แอร์แบ็กทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด  และคนขับเสี่ยงต่อการบาดเจ็บน้อยที่สุด
ตอบ ควรจะตั้งให้ต่ำลง  เพื่อให้แอร์แบ็กพุ่งมาที่หน้าอกขณะที่พองตัว ไม่ใช่พุ่งเข้าใส่ศีรษะของเรา  แต่สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องระวังอย่าให้ต่ำเกินไป ไม่งั้นจะพุ่งมากระแทกที่ท้องได้


ถาม แล้วพวงมาลัยที่ปรับให้ชิด หรือห่างตัวได้ ควรจะปรับอย่างไร
ตอบ ปรับให้ระยะพอเหมาะในการขับขี่ โดยห่างจากตัวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้