ความเคลื่อนไหวในแวดวงรถยนต์
20/09/00
ความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญไปที่ Car&medical message board ครับ

เรโนลต์ ลากูน่า ใหม่

ทันทีที่คู่แข่งตัวฉกาจอย่าง ฟอร์ด เปิดตัวมอนเดโอโฉมใหม่ และโฟล์กสวาเก้นที่ปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ให้กับรุ่นพัสสาท เรโนลต์ รัฐวิสาหกิจผลิตรถยนต์ของฝรั่งเศส ยักษ์อันดับ 5 ในยุโรป ทนนิ่งเฉยไม่ไหว สวนกลับด้วยหมัดเด็ด เปิดผ้าคลุมรุ่นเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์ของ ลากูนา ซีดานขนาดครอบครัวยอดฮิตอีกรุ่นในตลาดยุโรป เมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมกับสโลแกนใหม่ล่าสุดของเรโนลต์ "CREATEUR d'AUTOMOBILES"

ตลาดรถยนต์นั่งขนาดครอบครัว หรือ M2 SEGMENT ในยุโรป ซึ่งมีเรโนลต์ ลากูนา,ฟอร์ด มอนเดโอ,โฟล์กสวาเก้น พัสสาท,โอเปิล เวคตร้า,เปอโยต์ 406 และ นิสสัน พรีเมรา ขับเคี่ยวกันอยู่นั้น ประสบภาวะทรงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 1998 ด้วยยอดจำหน่ายรวมในปีที่แล้วอยู่ที่ 2,698,051 คัน เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดรถยนต์นั่งมินิเอ็มพีวี โดยพฤติกรรมของลูกค้าในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีความคิดอนุรักษ์นิยม ยืนหยัดที่จะใช้รถยนต์ 5 ประตู ทั้งแบบฟาสท์แบ็ค และ สเตชันแวกอน เช่นเดียวกับเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว และไม่คิดที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ที่มีราคาสูงขึ้น แต่พวกเขาต้องการรถยนต์ที่มีรูปทรงดูดี เน้นความปลอดภัย และเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ในราคาที่สมเหตุผล
ลากูนา เป็นรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนมกราคม 1994 เพื่อเข้ามาทำตลาดแทน เรโนลต์ 21 ซึ่งเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จ มากที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของเรโนลต์ และมีการปรับโฉมไมเนอร์เชนจ์ทั้งรุ่นฟาสท์แบ็ค 5 ประตู และสเตชันแวกอน 5 ประตู ในชื่อ เนวาดา เมื่อปี 1997 ลากูนาเป็นหนึ่งในรถยนต์ 3 รุ่นที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในตลาดกลุ่ม M2 นี้ ด้วยยอดผลิตนับตั้งแต่เปิดตัวมากกว่า 1.5 ล้านคัน  

ลากูนาใหม่ ได้รับการพัฒนาขึ้นตามโปรแกรมพัฒนา M2S ของเรโนลต์ ในรหัสโครงการ X74 ด้วยทางเลือกตัวถัง 2 แบบ เช่นเดียวกับรุ่นเดิม ทั้งแบบฟาสท์แบ็ค 5 ประตู และ สเตชันแวกอน หรือ เอสเตท 5 ประตู นอกจากนี้ ลากูนายังเป็นรถยนต์รุ่นแรกของเรโนลต์ ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาในศูนย์วิจัยแห่งใหม่ TECHNOCENTRE ซึ่งตั้งอยู่ในเมือง GUYANCOURT ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของกรุงปารีส ซึ่งมีเทคโนโลยีชั้นสูง และการจัดการที่ดี ทำให้ย่นเวลาในการพัฒนาลงจาก 4 ปีกับ 10 เดือน (58 เดือน) เหลือเพียง 3 ปีครึ่ง (42 เดือน หรือ 5 ล้านชั่วโมง) รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 5,488 ล้านบาทจากรุ่นเดิม โดยใช้เงินลงทุนไปทั้งหมด 32,929 ล้านบาท โดยรูปทรงของลากูนาใหม่ ได้รับอิทธิพลการออกแบบ มาจากรถยนต์ต้นแบบ INITIALE ที่เผยโฉมเมื่อปี 1995  

เมื่อเทียบกับรุ่นเดิม ลากูนาใหม่ มีความยาวตัวถังเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 4,510 มิลลิเมตร มาเป็น 4,579.4 มิลลิเมตร กว้าง 1,749 มิลลิเมตร สูง 1,429 มิลลิเมตร มีระยะฐานล้อยาว 2,743.3 มิลลิเมตร  

ส่วนรุ่นเอสเตทมีความยาวเพิ่มขึ้นจากเดิม 4,620 มิลลิเมตร มาอยู่ที่ 4,697.8 มิลลิเมตร กว้าง 1,749 มิลลิเมตร สุง 1,443 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อยาว 2,744.7 มิลลิเมตร  

ห้องโดยสารของลากูนาใหม่ ถูกออกแบบโดยเน้นความสะดวกสบาย และการลดเสียงรบกวน ที่เล็ดรอดจากห้องเครื่องยนต์ เบาะนั่งผลิตโดยบริษัท FAURECIA SA ของฝรั่งเศส ซึ่งลดต้นทุนจากรุ่นเดิมไปได้ถึง 20 เปอร์เซนต์ เพราะย้ายฐานการผลิตเบาะ ไปยังตูรกี และสาฐารณะรัฐเชค อุปกรณ์อำนายความสะดวกที่โดดเด่น มีทั้งระบบปรับอากาศพร้อมเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ, รังสีอัลตราไวโอเล็ต และชุดเครื่องเสียงพรีเมี่ยม พร้อม 8 ลำโพง แยกปุ่มควบคุมมาไว้บนพวงมาลัย  

การเปิดตัวลากูนาใหม่ ไม่ได้เป็นเพียงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสารพัดนวัตกรรมใหม่มากมาย อาทิเช่น ระบบเตือนความดันลมยางบนแผงหน้าปัด โดยทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ที่ล้อทั้ง 4 เพื่อเตือนผู้ขับขี่เมื่อลมยางเกิดรั่วซึม พัฒนาร่วมกับบริษัทมิชลิน และบริษัท SCHRADER ในเยอรมัน โดยเซ็นเซอร์นี้ สามารถทำงานได้กับยางทุกยี่ห้อ ระบบนี้แตกต่างจากระบบอื่นที่จะเตือนเมื่อยางรั่วซึมอย่างเดียว แต่ระบบของเรโนลต์จะแจ้งข้อมูล ให้ผู้ขับขี่ทราบทุกเรื่อง ตั้งแต่ความดันลมยางเหมาะสมหรือไม่ จนถึงการพองตัวอย่างผิดรูปร่างเมื่อสูบลมเข้าไป รวมทั้งความเร็วที่เหมาะสมต่อความดันลมยางที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยจะเตือนทันทีที่ติดเครื่องยนต์ หรือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน ด้วยเสียงพูดจากระบบคอมพิวเตอร์

ระบบนำร่องผ่านดาวเทียม GPS CARMINAT พ่วงด้วยระบบสื่อสารกับศูนย์ข้อมูล ODYSLINE ผ่าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ GSM รวมทั้งเครื่องเล่น DVD สำหรับมอนิเตอร์ LCD สำหรับผู้โดยสารตอนหลัง ติดตั้งฝังลงไปในพนักพิงศีรษะเบาะคู่หน้า เช่นเดียวกับฟอร์ด มอนเดโอใหม่ ซันรูฟแบบ PRE-SELECT ที่มีระบบความจำตำแหน่งปิดเปิดของผู้โดยสาร พร้อมระบบดีดกลับอัตโนมัติ เมื่อมีสิ่งกีดขวาง

ระบบควบคุมความเร็วคงที่ครุยส์คอนโทรล แบบใหม่ที่พ่วงกับระบบจำกัดความเร็วอัตโนมัติ และระบบสัญญาณเตือนสิ่งกีดขวางเมื่อเข้าจอด PARKING AID เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น รวมทั้งระบบ KEYLESS CARTE ที่ผู้ขับขี่สามารถเปิดประตูทุกบานได้โดยไม่ต้องใช้กุญแจ เช่นเดียวกับการติดเครื่องยนต์โดยการกดปุ่ม เพียงแต่ผู้ขับขี่ จะต้องมีบัตรอีเล็กโทรนิคส์ที่พัฒนาโดยบริษัท VALEO SA. โดยเครื่องยนต์จะติดขึ้นเองไม่ได้ หากไม่สอดบัตรคีย์เลส ไว่ในช่องเสียบบนแผงหน้าปัด และรหัสบนบัตร ไม่ตรงกันกับที่คอมพิวเตอร์บันทึกไว้ เชื่อมต่อกับระบบกันขโมย IMMOBILISER ที่พัฒนาขึ้นใหม่ 

นอกจากนี้ บัตรคีย์เลส ดังกล่าว ยังเก็บข้อมูลของการซื้อขายรถยนต์คันนั้นๆ รวมทั้งข้อมูลการบำรุงรักษา ตัวเลขประจำรถ VIN (VEHICLE INDENTIFICATION NUMBER) จำนวนกิโลเมตรที่ใช้งาน ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ สามารถเรียกดูได้ ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีโปรแกรมโดยเฉพาะ
ขุมพลังที่วางในลากูนาใหม่ มีให้เลือกมากมาย เริ่มกันที่ 4 สูบ 16 วาล์ว 1,598 ซีซี 110 แรงม้า   ตามด้วย  1,783 ซีซี พร้อมระบบวาล์วแปรผัน 123 แรงม้า ปิดขบวน 4 สูบ   ด้วย 1,998 ซีซี พร้อมเทคโนโลยี IDE 140 แรงม้า  ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะโดยใช้คลัชท์ไฮโดรลิค  และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะแบบดั้งเดิม รุ่นแรงสุดใช้ขุมพลัง วี6 ทวินแคม 24 วาล์ว 2,946 ซีซี 210 แรงม้า   ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่พัฒนาร่วมกัน  ระหว่างเรโนลต์และกลุ่ม PSA (เปอโยต์และซีตรอง) ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 5 จังหวะที่ผุ้ขับขี่สามารถเลือกตำแหน่งเกียร์เองได้ พัฒนาขึ้นโดย AISIN-WARNER โดยมีน้ำหนักเพียง 90 กิโลกรัม 
สำหรับขุมพลังดีเซล ระบบคอมม่อนเรล มี 2 บล็อคให้เลือก คือ 4 สูบ 8 วาล์ว 1,870 ซีซี ที่จูนความแรง 2 ระดับ โดยแบบแรกให้กำลังสูงสุด 105 แรงม้า  แรงบิดสูงสุด 20.7 กก.-ม.ที่ 1,500 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ  หากเป็นรุ่นส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ กำลังสูงสุดจะเพิ่มขึ้นเป็น 110 แรงม้า  แรงบิดสูงสุด 26 กก.-ม.ที่ 1,750 รอบ/นาที และเมื่อเพิ่มเทอร์โบเข้าไป เครื่องยนต์บล็อคนี้จะให้กำลังสูงสุดจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 แรงม้า ที่  4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 27.9 กก.-ม.ที่ 2,000 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะแบบ PK6  ที่พัฒนามาจากเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะแบบ PK1 โดยออกแบบให้ใช้คลัชท์ไฮโดรลิค และมีอัตราทดเกียร์ที่กว้าง เพื่อให้ มีแรงบิดสูงในรอบเครื่องยนต์ต่ำ และมีน้ำหนักเบากว่าแบบ PK1 2 กิโลกรัม

ปิดท้ายด้วยขุมพลังเทอร์โบดีเซลรหัส G9T 4 สูบ 16 วาล์ว 2,188 ซีซี 135 แรงม้า (BHP) ที่ รอบ/นาที  แรงบิดสูงสุด 33.2 กก.-ม.ที่ 1,750 รอบ/นาที ส่งกำลังด้วยเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ 5 จังหวะ

ระบบกันสะเทือนหน้าแบบแมคเฟอร์สันสตรัทผลิตขึ้นจากอะลูมีเนียม ลดน้ำหนักไปได้ถึง 10 กิโลกรัม ส่วนด้านหลังเป็น แบบทอร์ชันบีมรูปตัว H พร้อมระบบพวงมาลัย ปรับน้ำหนักได้ตามความเร็ว ติดตั้งในทุกรุ่น,ระบบควบคุมเสถียรภาพ ASR แทร็คชันคอนโทรล ดิสค์เบรค 4 ล้อ พร้อมเอบีเอส รุ่นใหม่ล่าสุดแบบ TEVES MK60 ทำงานร่วมกับระบบ EBV,ระบบเพิ่มแรงเบรคในภาวะฉุกเฉิน  อีเล็กโทรนิคส์ BREAK ASSIST พร้อมสัญญาณเตือนบนหน้าปัดเมื่อระบบกำลังทำงาน และระบบควบคุมการทรงตัว ESP ที่ติดตั้งในลากูนาทุกแบบทุกคัน

อุปกรณ์ความปลอดภัยในลากูนาใหม่ มีตั้งแต่ถุงลมนิรภัยคู่หน้าแบบ DUAL STAGE และด้านข้างรวม 4 ใบ เข็มขัดนิรภัยดึงกลับอัตโนมัติ และลดแรงปะทะ (พรีเทนชันแบบ FORCE LIMITER) เบาะนั่งป้องกันการลื่นไถล (ANTI-SUBMARINING) รวมทั้งจุดยึดเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก มาตรฐาน ISOFIX

จุดขายที่สำคัญอีกจุดของลากูนา คือความกล้าหาญในการรับประกันตัวถังกัลวาไนซ์ปลอดสนิมนานถึง 12 ปี!! รวมทั้งวัสดุที่นำมาประกอบเป็นตัวรถ มากถึง 90 เปอร์เซนต์ สามารถนำกลับไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้ และความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นกำหนดการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง  ที่ยืดออกไปถึงระดับ 30,000 กิโลเมตร! ขณะที่หัวเทียนและไส้กรองอากาศถูกยืดอายุไปถึง 60,000 กิโลเมตร! รวมทั้งผ้าเบรคที่มีอายุการใช้งาน นานกว่าเดิมถึง 50 เปอร์เซนต์ สรุปแล้ว ลูกค้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 40 เปอร์เซนต์! เมื่อเทียบกับ ลากูนารุ่นเดิม

ลากูนาใหม่ทั้ง 2 ตัวถังจะถูกผลิตขึ้นที่โรงงาน SANDOUVILLE ในเมืองนอร์มังดี ที่ใช้ในการผลิตรถยนต์รุ่นหรูของตนมาตั้งแต่ปี 1964 เพียงแห่งเดียว โดยใช้สายการผลิต ร่วมกับเอ็มพีวีรุ่นเอสปาซ และซีดานหรูรุ่นซาฟราน โฉมใหม่ที่เตรียมจะเปิดตัวในเร็วๆนี้ โดยผู้บริหารตั้งเป้ายอดจำหน่ายของลากูนาใหม่ สุงขึ้นจากรุ่นเดิม 25 เปอร์เซนต์ และจะเริ่มบุกตลาดยุโรปในช่วงสิ้นปีนี้

ข้อมูลโดย :

JIMMY - Thaidriver