ปัจจัยที่มีผลต่อการขับขี่
ขับรถให้ถูกท่า ช่วยรักษาหลัง
ตำราทางการแพทย์ว่าไว้ว่า มนุษย์ราวๆ 80 ใน 100 คน ต้องเคยปวดหลังสักครั้งในชีวิต
...และยังมีการกล่าวไว้ว่า การขับขี่รถยนต์นานๆ เป็นปัจจัยตัวหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง
ได้อย่างมากทีเดียว
โดยทั่วไป หลังคนเรามีกระดูกเป็นปล้องๆ เชื่อมต่อระหว่างปล้องด้วย หมอนรองกระดูก
ที่หลายคนคงรู้จักกันดี เจ้าหมอนที่ว่านี้เป็นตัวรับแรงที่มากระทบกระทั่ง
เป็นทั้งว็อค และสปริงในตัวเดียวกันไปเลย และแบ่งเบาภาระแรงที่จะไปกระแทกเอาท่อนกระดูกสันหลังไป
มีคนศึกษาไว้ว่า ในท่านอน
แรงที่มาลงที่หมอนรองกระดูกจะต่ำสุด แล้วสูงขึ้นในท่ายืน
น่าแปลกที่ว่าแรงดังกล่าว กลับเพิ่มขึ้นไปอีกในท่านั่ง
พอรู้อย่างนี้ ก็เลยมีคนไปศึกษาต่อ พบว่าในท่านั่งนั้น เมื่อปรับพนักพิงเอียงไม่เท่ากัน
แรงที่ว่าก็ไม่เท่ากันด้วย ถ้าตั้งพนัก 90 องศง แรงจะสูงกว่า เอียงพนักลง
(ดูไดอะแกรม) และการมีตัวดันหลัง (lumbar support) ก็ยิ่งช่วยลดแรงในหมอนรองกระดูกลง
ถ้ามีแรงมากๆมากดที่หมอนรองกระดูกบ่อยๆ
ก็จะทำให้มันชำรุดสึกหรอเร็วขึ้น อาจจะพาลทะลุปรุโปร่งออกมา สร้างความวุ่นวายให้เจ้าของหลังได้
หรือแม้จะไม่เคลื่อนออกมา แต่สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็วขึ้น
และยังทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานมาก เกิดอาการเมื่อยล้าเรื้อรัง
รู้อย่างนี้แล้ว
ก็เลยแนะนำว่า ท่าที่ช่วยถนอมหลังในการขับรถ คือท่าที่ปรับพนักให้เอียง ไปประมาณ
110-120 องศา และมี lumbar support ดุนที่หลัง แต่ก็ต้องพิจารณาระยะช่วงแขน
ถึงพวงมาลัย และระยะช่วงขา ให้มีการงอข้อศอกและข้อเข่าที่พอเหมาะด้วย
ดังนั้น รถที่คำนึงถึงการออกแบบตามหลัก
เออร์โกโนมิคส์ จริงๆ ต้องสามารถปรับตำแหน่ง ได้ทั้งมุมเอียงพนัก เดินหน้าถอยหลัง
และความสูงต่ำของที่นั่งด้วย รวมทั้งต้องปรับระยะใกล้ไกล และระยะสูงต่ำของพวงมาลัยได้
ถึงจะเป็นของแท้
อันที่จริง ยังมีปัจจัยอื่นจากรถยนต์
ที่ทำให้ปวดหลังได้ เช่นแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น ตลอดเวลา เป็นต้น และเมื่อขับรถไปนานๆ
ก็ควรออกมาขยับเขยื้อน ให้กล้ามเนื้อหลังคลายตัว ลดอาการล้าของกล้ามเนื้อลงด้วย
แถมอีกอย่างคือ
การเข็นรถ ถ้าจะให้ถูกต้องและไม่ทรมานหลังมาก ไม่ควรเข็นโดยใช้มือดันไปข้างหน้า
เพราะคุณต้องก้มตัวออกแรง อันจะไปทำให้ ความดันในหมอนรองกระดูก สูงขึ้นมาก
ท่าที่แนะนำคือ ใช้ก้นดันนั่นแหละครับ ดันไปด้านหลัง อาจจะเปรอะเปื้อนกระโปรง
หรือกางเกงหน่อย แต่ถนอมหลังนะครับ...
หมอนพิงศีรษะ
ที่หลายคนยังละเลย
หมอนพิงศีรษะ เป็นอุปกรณ์นิรภัยที่มีครบในรถยนต์ทุกคัน
แต่เชื่อได้ว่ามีส่วนน้อย ที่ได้ใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนี้ อย่างถูกต้อง
มีผู้ขับขี่
และผู้โดยสารจำนวนไม่น้อย ที่คิดว่า หมอนพิงศีรษะ มีไว้ผ่อนคลายอาการเมื่อยล้า
โดยเฉพาะ บริเวณต้นคอ และมักจะปรับให้หนุนต้นคอ เพื่อให้รู้สึกสบาย แต่ในความเป็นจริง
นั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บด้วยซ้ำไป
ลองมาทำความรู้จักกับอุปกรณ์เล็กๆ
แต่ทรงคุณค่าชิ้นนี้
Whiplash Injury?
ศัพท์ภาษาอังกฤษข้างบนนี้
หมายถึงการบาดเจ็บต่อกระดูกต้นคอ และกล้ามเนื้อรอบๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุที่มีลักษณะเฉพาะ
คือการนั่งอยู่ในรถ แล้วถูกชนท้ายอย่างกะทันหัน แผนภาพข้างล่างแสดงให้เห็นว่า
เมื่อถูกกระแทกมาจากด้านหลัง ตัวรถจะพุ่งไปด้านหน้าอย่างรวดเร็ว ในขณะที่แรงเฉื่อยที่มีอยู่
จะทำให้ศีรษะสะบัดไปด้านหลัง แล้วหลังจากนั้นจะสะบัดกลับไปด้านหน้าอย่างรวดเร็ว
ทั้งหมดคล้ายการสะบัดแส้ไปมาในอากาศ จึงเรียกว่า whiplash injury
อาการโดยทั่วไป ที่พบได้บ่อยคือ
การรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ อาจจะมีอาการเล็กน้อย ไปจนถึงรุนแรงมาก และในบางรายจะมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ
เช่นอาการชาของแขน อาการหน้ามืด เกิดขึ้นได้ ในอเมริกาพบว่า การบาดเจ็บชนิดนี้ทำให้สูญเสียเงินในการรักษา
ปีหนึ่งๆหลายล้านดอลล่าร์ทีเดียว
ป้องกันได้ ไม่ยากเลย
เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่มีผู้กล่าวถึงการบาดเจ็บชนิดนี้ และจากการศึกษาในระยะหลังพบว่า
การใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมา คือหมอนพิงศีรษะนี้ จะช่วยลดอัตราการเกิด และความรุนแรงของการบาดเจ็บชนิดนี้ลงได้
เมื่อผู้ขับขี่
ปรับหมอนพิงศีรษะ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง มันจะป้องกันไม่ให้ศีรษะ สะบัดไปด้านหลังอย่างรุนแรง
จนเกิดอันตรายดังที่กล่าวมาแล้ว ภาพด้านบนนี้แสดงถึงการปรับ โดยมีระยะ
backset และ height ดังในภาพ จากการทดลองเชื่อว่า ระยะที่ดีที่สุดในการป้องกันคือ
ต้องปรับความสูงของหมอนพิงศีรษะ ให้สูงกว่าปลายบนสุดของใบหู และต้องให้มีระยะห่าง
backset น้อยกว่า 10 ซม.
ถ้าย้อนกลับไปดูภาพแรกด้านบน
จะเห็นว่าเมื่อปรับให้หมอนพิงศีรษะอยู่ต่ำ โดยเฉพาะถ้าปรับให้หนุนต้นคอ นอกจากจะไม่ช่วยป้องกันแล้ว
ยังเป็นตัวช่วยดันให้เกิดการแหงนคอ (หรือเรียกว่า เป็นจุดหมุน - fulcrum)
ไปด้านหลังมากขึ้นด้วยซ้ำ
ผู้เขียน เคยทำการศึกษาเล็กๆชิ้นหนึ่งในบ้านเรา
พบว่าจากจำนวนที่สำรวจ มีผู้ปรับตำแหน่งหมอนพิงศีรษะถูกต้องน้อยมาก และส่วนใหญ่ก็เพราะบังเอิญ
ไม่ได้ตั้งใจจะปรับให้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย
หมอนพิงศีรษะในอนาคต
ปัญหาการใช้งานไม่ถูกต้องดังกล่าว ไม่ใช่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น แต่พบได้ทั่วโลก
การแก้ปัญหาของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายแห่ง จึงพยายามออกแบบ ให้หมอนพิงศีรษะ
สามารถขยับตัวมันเองเข้ามาป้องกันศีรษะ และคอได้ ในขณะที่เกิดอุบัติเหตุ
ตัวอย่าง 2 ภาพนี้
เป็นระบบของ ซาบ และ วอลโว่ ที่ติดตั้งแล้ว ในรุ่น 9-5 และ เอส 80 ซึ่งหลายท่านคงได้อ่านรายละเอียดไปบ้างแล้ว
การทำงานที่สำคัญคือ เมื่อเกิดการชนท้ายขึ้น มันจะหนุนขึ้นมามิให้คอแหงนไปด้านหลังทันที
แล้วหมอนพิงศีรษะในปัจจุบันล่ะ?
แม้ว่าเรายังใช้ หมอนพิงศีรษะที่ "โลว์เทค" กันไปสักนิด แต่ถ้าคุณปรับตำแหน่งได้ถูกต้อง
ก็ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาหมอนพิงศีรษะไฮเทคโนโลยอะไรเลย แล้วถ้าถูกชนท้ายครั้งหน้า
ก็ไม่ต้องเสียสตางค์ไปรักษาอาการคอเคล็ดอีก
ลองสำรวจดูนะครับ ว่าคุณปรับได้ดีแล้วหรือยัง
ERGONOMICS
จุดเชื่อมต่อมนุษย์กับเครื่องจักร
เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆท่านจะคุ้นเคยกับศัพท์เทคนิคคำนี้ดี
ต้นตออย่างหนึ่งก็คงจะเป็นการพูดถึง ERGONOMICS บ่อยๆในการโฆษณารถยนต์เกือบทุกรุ่น
ซึ่งจะต้องอ้างถึงการใช้หลักการนี้ในการออกแบบ
เรื่องราวของ ERGONOMICS นี้ย้อนหลังไปด้วยถึงคริสตศตวรรษที่ 18 โน่นเลยครับ
และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในระยะแรกเน้นหนักในการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
พื้นฐานเลยกล่าวกันว่า มีผู้คิดว่าภายใต้สภาพแวดล้อมอย่างไรผู้ที่ปฏิบัติงานจึงจะสร้างผลงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจัยที่สำคัญก็คือต้องให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรกล
( MAN - MACHINE) ประสานกันเป็นอย่างดียิ่ง
การออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ
ต้องเอื้อต่อการทำงานของมนุษย์ เก้าอี้ที่คุณกำลังนั่งอ่านหรือที่ผมกำลังนั่งพิมพ์ต้นฉบับอยู่
ก็อาจจะถูกออกแบบมาด้วยหลัก ERGONOMICS นอกไปจากอุปกรณ์แล้วยังต้องพินิจพิเคราะห์กันถึงสิ่งที่เรียกว่า
มนุษย์ปัจจัย หรือ HUMAN FACTOR ด้วยนั่นคือ จิตวิทยาในการรับรู้
การสื่อสาร การควบคุมของมนุษย์ ข้อนี้ก็เป็นหัวใจสำคัญของ ERGONOMICS
ด้วยเหมือนกัน
มาถึงตรงนี้ คงพอเห็นประเด็นนะครับว่า รถยนต์ไปเกี่ยวข้องกับ
ERGONOMICS กันอย่างไรบ้าง การขับขี่รถยนต์ก็คือการทำงานประสานกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรแบบหนึ่ง
รอบๆตัวผู้ขับขี่ประกอบด้วยอุปกรณ์มากมายที่จะควบคุมรถยนต์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ
ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ภาระ (LOAD) ต่อผู้ขับขี่ไม่มากจนเกินไป
ตั้งแต่เบาะที่คุณใช้นั่งขับรถอยู่ การจัดวางคอนโซลรอบๆ
การจัดวาง สวิทช์ต่างๆ ต้องทำให้สามารถใช้งานโดยง่าย เรียกว่าเห็นปุ๊ปใช้ได้ปั๊ป
ไม่ต้องมานั่งคิดกันว่า " เอ๊ะ ปุ่มนี้ใช้งานกันอย่างไร "
ถ้าเจอแบบนี้เข้าถือว่าผิดหลักการ ไม่สมควรอ้างว่าออกแบบตามหลัก ERGONOMICS
มีตัวอย่างการวิเคราะห์วิจารณ์การออกแบบภายในรถยนต์โดยผู้ชำนาญด้านนี้
หรือที่เรียกว่า ERGONOMIST ตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังครับ
ลองพิจารณา การออกแบบสวิทช์กระจกไฟฟ้า ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีทั้งแบบที่ติดอยู่ตรงคอนโซลกลาง
กับแบบที่ติดตั้งที่แผงข้างประตู หยุดอ่านตรงนี้สักครู่แล้วนึกดูสิครับว่า
คุณชอบแบบไหนกว่ากัน ?
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า
การออกแบบที่ถูกหลักควรจะให้สวิทช์อยู่ที่แผงประตู เหตุผลที่ยกมาคือ
เมื่อคุณนึกถึงกระจกหน้าต่าง คุณควรจะชำเลืองไปที่ประตูรถและควรจะพบกับสวิทช์ที่คุณอยากจะใช้ได้โดยง่าย
สังเกตได้ว่ารถยนต์จากญี่ปุ่นเกือบทุกยี่ห้อ ยึดถือแนวทางนี้กันหมด
แต่ยังหารถยนต์ที่มีสวิทช์กระจกไฟฟ้าติดตั้งบริเวณคอนโซลกลางได้อีกหลายรุ่น
โดยเฉพาะรถจากค่ายเยอรมัน ซีรีส์ 3 ใหม่เอี่ยมของบีเอ็มก็ยังใช้หลักการนี้อยู่
แม้แต่หน้าปัดรถยนต์ที่คุณชำเลืองมองอยู่ทุกวัน ก็ต้องคำนึงถึงหลัก
ERGONOMICS ด้วยเช่นกัน หน้าปัดเป็นส่วนที่แสดงถึงสถานะการทำงานของเครื่องยนต์ให้แก่ผู้ขับขี่
ข้อมูลที่ได้รับจะทำให้การรับรู้สภาพการณ์ของรถยนต์ดีขึ้น นอกเหนือไปจากความรู้สึกที่ได้รับจากอาการของรถ
เช่นการทรงตัวในการเข้าโค้ง เป็นต้น
การให้ข้อมูลเรื่องความเร็วของรถยนต์เป็นตัวอย่างง่ายๆที่จะเข้าใจ
ERGONOMICS ตรงนี้ ข้อมูลจากเกจ์ความเร็วบอกคุณถึงความเร็วที่คุณใช้อยู่
ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการเคลื่อนของเข็มที่กวาดผ่านหน้าปัดยังบอกคุณถึงอัตราเร่งในเวลาเดียวกัน
แสดงว่าจากจอนี้ สามารถให้ข้อมูลคุณได้ 2 ชนิดด้วยการกวาดตาแว่บเดียว
ถ้าเปลี่ยนข้อมูลที่ว่านี้เป็นแบบตัวเลข
ที่มีรถญี่ปุ่นบางรุ่นเคยใช้อยู่เมื่อหลายปีก่อน เมื่อมองไปที่หน้าปัดจะรับรู้ความเร็วขณะนั้นๆ
ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงความเร็วจะแสดงให้เห็นเพียงการเปลี่ยนค่าความเร็วที่โชว์อยู่
เช่น จาก 25 เป็น 30 เป็น 35
ลักษณะนี้ทำให้การรับรู้อัตราเร่งไม่ชัดเจนเท่าข้อมูลจากเข็มที่กวาดผ่านหน้าปัด
นี่น่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่แม้ในยุคดิจิตอลแล้ว ข้อมูลแบบอนาล็อคในลักษณะนี้ก็ยังใช้ได้ดีและเป็นที่นิยมกันอยู่
มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแสดงข้อมูลของรถยนต์จากหน้าปัดแบบเดิมๆที่คุ้นเคยกันมานาน
เนื่องจากการเล็งเห็นว่าผู้ขับขี่ในอนาคตจะต้องรับรู้ข้อมูลต่างๆมากกว่าในปัจจุบัน
ทั้งจากระบบนำทางที่เริ่มติดตั้งในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นแล้ว
จากการพยายามให้การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในรถยนต์เป็นไปอย่างปลอดภัย
และแนวโน้มที่รถยนต์ในอนาคตจะกลายเป็นออฟฟิศเคลื่อนที่
ลองนึกดูว่าถ้าคุณกำลังขับรถอยู่
แล้วต้องชำเลืองไปมองจอแผนที่จากระบบนำทาง ซึ่งติดตั้งอยู่ที่คอนโซลกลางจะได้ตัดสินใจว่าจะเลี้ยวไปทางไหน
บังเอิญมีโทรศัพท์ดังขึ้น คุณอาจจะต้องหันไปดูที่เครื่องโทรศัพท์ว่าเบอร์ที่โทรเข้ามาคือเบอร์อะไร
เพื่อการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาพร้อมๆกัน
การละสายตาไปๆมาๆจะลดประสิทธิภาพการขับขี่ลงอย่างมาก
ดังนั้นเพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ดี เชื่อกันว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามาจะแสดงขึ้นในกระจกรถยนต์ตรงหน้าคุณด้วยระบบ HUD
( HEAD UP DISPLAY ) ครั้งนี้จะเป็นการนำ HUD มาใช้งานอย่างจริงจังในรถยนต์
ไม่ใช่การติดตั้งเป็นแฟชั่นเหมือนในอดีต แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น
ยังต้องมีการพัฒนาระบบนี้อีกหลายขั้นตอน