ปิดท้ายกันด้วยเรื่องของสุราเมรัย กับการขับขี่ยวดยานพาหนะ ที่ขณะนี้กำลังได้รับความสนใจอย่างสูง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุในท้องถนน หลายคนที่ตายหรือบาดเจ็บไป ก็ด้วยผลของการเสพสุราขณะขับขี่
โดยหน้าที่การงาน ทำให้ผมมีโอกาสคลุกคลีกับสิงห์สุราทั้งหลายในต่างกรรมต่างวาระกัน ตั้งแต่สิงห์หนุ่มรุ่นกระทง ยังสิงห์ชรา แต่ละท่านที่ได้เจอะเจอกัน ย่อมต้องพกพาความเจ็บไข้อันเกิดจากสุรามาเยี่ยมเยียนทั้งนั้น ยิ่งในช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในหน่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดก็คือสิงห์สุราหนุ่มในช่วงยามวิกาลนั่นล่ะครับ
ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุการจราจรเกือบทั้งหมดจะมีกลิ่นเหล้าติดตัวมาด้วยเสมอ มากน้อยต่างกันไป บางครั้งเราเคยคุยกันเล่นๆ ในห้องผ่าตัดว่า มีทั้งกลิ่นเลือดปนกลิ่นเหล้าเคล้ากันนัวไปหมด ข้อมูลขณะนี้ อุบัติเหตุยังเป็นเพชรฆาตอันดับต้นๆ ในการคร่าชีวิตคนไทย
อุบัติเหตุกับผลกระทบทางสังคม
มีการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุกันอย่างแพร่หลาย จนถึงขณะนี้คิดว่าข้อมูลข่าวสารควรจะไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนกันทั่วถึงแล้ว แต่ทำไมอัตราการเกิดอุบัติเหตุยังคงสูงลิ่วอยู่ ? ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่ ความตระหนักและความรับผิดชอบของผู้ใช้รถใช้ถนน
มีตัวอย่างให้เห็นได้ง่ายๆ
ในช่วงที่รณรงค์ใช้หมวกกันน็อกใหม่ๆ นั้น มีการต่อต้านเกิดขึ้น
บ่อยครั้งจะได้ยินคำพูดทำนองว่า
ศีรษะของใครคนนั้นก็รับผิดชอบกันเอง ผู้ที่พูดแบบนี้อาจจะเรียกได้ว่า มองมุมแคบไปสักหน่อย
เพราะในความเป็นจริง น้อยครั้งมากที่อุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้น จะก่อผลกระทบต่อคนเพียงคนเดียว
เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก และได้รับบาดเจ็บทางสมอง - ในสถานที่เกิดเหตุ จะเกิดการจราจรติดขัดขึ้นทันทีจนกว่าจะเคลียร์ที่เกิดเหตุได้ ครอบครัวต้องเดือดร้อน เสียเงินในการรักษาพยาบาล ถ้ามีความพิการหลงเหลือติดตัว จะเสียสมรรถนะในการทำงาน และเป็นภาระในการดูแลของผู้อื่นตลอดไป ถ้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐก็จะสูญเสียงบประมาณในส่วนที่จะดูแลผู้ป่วยจากโรคทั่วๆ ไป มาดูแลผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ควรจะป้องกันได้นี้ ฯลฯ
ดื่มทีละ 3 แก้ว คุณควบคุมได้หรือ?
ในกรณีของการดื่มสุรา เมื่อปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดขึ้นถึงระดับหนึ่ง การตัดสินใจและปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการฉุกเฉินจะผิดพลาด จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น มีการวิจัยระบุถึงระดับสุราที่จะดื่มได้โดยอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย แต่ในข้อเท็จจริง เมื่อเริ่มตั้งวงกันแล้ว มีสักกี่คนที่จะควบคุมระดับการดื่มได้ ผู้ที่รู้ทฤษฎีแน่นเปรี๊ยะว่าต้องดื่มไม่เกิน 3 แก้ว พอแก้วที่ 3 ลงคอไปแล้ว ก็ชักลืมๆ คิดว่าน่าจะต่อได้สักแก้วสองแก้ว มารู้ตัวอีกทีตอนแยกวงกันแล้ว ทีนี้พอต้องควบเก๋งคันหรูกลับบ้าน ปณิธานต่างๆ ก็ลงขวดเหล้าไปหมด
เมื่อเมาแล้วขับ ถูกจับแน่
ในสังคมไทย ยังยากที่จะแยกสุราออกจากชีวิตประจำวัน การปลุกจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมท้องถนน จึงเป็นเรื่องที่ต้องกระทำ และไม้ตายที่สำคัญก็คือกฏหมายนั่นเอง ปัจจุบันนี้ กฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2537 ซึ่งยังคงบังคับใช้อยู่ ถือว่าเมาสุราเมื่อมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอาจจะทำการเจาะตรวจโดยตรง ซึ่งมักใช้กับผู้เมาสุราก่ออุบัติเหตุขึ้นจนถูกควบคุมตัว หรือใช้การวัดเปรียบเทียบจากลมหายใจหรือปัสสาวะ ซึ่งจะใช้ในกรณีสุ่มตรวจเป็นส่วนใหญ่
กรณีตัวอย่างในต่างประเทศ
ขณะกำลังมีการกวดขันเรื่องการวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งยังอยู่ในระยะที่มีการผ่อนปรนกันอยู่ ลองดูตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความเฉียบขาดมาก ในช่วงเทศกาลต่างๆถึงกับมีการรวมตัวของกลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ รับจ้างเป็น DRINK JOCKEY สำหรับเป็นสารถีให้ผู้มีความจำเป็นต้องไปร่ำสุราฉลองกันทั้งหลาย เนื่องจากถ้าเมาสุราแล้วขับรถเอง มีหวังโดนซิวและถูกลงโทษอย่างรุนแรงแน่นอน จึงเรียกใช้บริการแท็กซี่มาเป็นสารถีเฉพาะกิจให้กับรถของตัวเองได้
มีผู้ที่ไปรับการศึกษาอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์เล่าให้ฟังว่า เวลาจะชวนเพื่อนฝูงไปดื่มสุรากัน เมื่อตั้งเป้าว่าเมาแน่ ทุกคนจะแห่กันใช้บริการแท็กซี่ และใครที่จะเสี่ยงเมาแล้วขับเอาเองเผื่ออาจจะไม่ถูกตำรวจเรียกตรวจ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะในบ้านเมืองนั้นผู้คนจะตรวจสอบกันเอง ถ้าโต๊ะข้างๆ เห็นว่าหมอนี่อาการไม่ดีแล้วเดินโซเซไปขับรถกลับบ้านเอง เพื่อนข้างโต๊ะก็จะสงเคราะห์โทรศัพท์แจ้งตำรวจโดยอัตโนมัติ เพราะทุกคนถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องปกป้องสิทธิตนเอง ใครจะรู้ได้ว่าผู้ที่อาจเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุที่อาจ เกิดขึ้นโดยนายคนที่เมาแล้วขับนั้น อาจเป็นคุณหรือคนที่คุณรักก็ได้
เดี๋ยวนี้ สโลแกน "เมาไม่ขับ" ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ตำรวจท่านก็ท่าทางเอาจริงเอาจังหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน จะบอกว่าไม่รู้คงไม่ได้เสียแล้ว ต้องอยู่ทีสำนึกรับผิดชอบกันแล้วครับ เตือนตัวเองกันไว้หน่อย เมื่อเมา เราไม่ขับ.