บทที่ 6  รถยนต์กับสิ่งแวดล้อม

6.2  สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มีผลต่อโรคภูมิแพ้อย่างไร

หลายๆท่านคงรู้จักชื่อเสียงของโรคภูมิแพ้เป็นอย่างดี  ซึ่งนำมาทั้งอาการที่น่ารำคาญ เช่น การแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลตลอดเวลา ไปจนถึงอาการที่รุนแรงขึ้น คืออาการหอบหืด และถ้าเป็นอย่างรุนแรง อาจจะทำให้เสียชีวิตได้

ในปัจจุบัน พบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการของโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตเมือง และพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม สาเหตุหนึ่งที่ยอมรับกันว่ามีส่วนสำคัญในการทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ได้แก่มลภาวะทางอากาศทั้งในแง่ของฝุ่นละออง และก๊าซพิษต่างๆ ที่เราต้องสูดดมเข้าไป

PM10  ต้นตอปัญหาที่ใกล้วิกฤต

ปัจจัยแรก ที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรค ในเขตพื้นที่ดังกล่าวอย่างมาก คือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (0.01 มิลลิเมตร) ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า PM10 ซึ่งได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว ฝุ่นละอองเหล่านี้มีที่มาหลายแหล่ง ทั้งจากการก่อสร้าง และการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล

ในการตรวจวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครบางจุด  พบว่าปริมาณฝุ่น PM10 นี้ เกินกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกมาหลายปีแล้ว  ข้อมูลที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งจากการศึกษาตรวจวัดสภาพอากาศ ในกรุงเทพมหานครระบุว่า ปริมาณ PM10 จะขึ้นสูงที่สุดในช่วงกลางดึก  คาดการณ์กันว่าเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่รถบรรทุกออกวิ่งตามท้องถนน  ทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ร่วมกับการปลดปล่อย PM10 จากไอเสียรถบรรทุก ซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซล  และเป็นที่ทราบกันดีว่า  ส่วนใหญ่เครื่องยนต์จะอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์

การที่ฝุ่น PM10 มีขนาดเล็กมากนี้ ทำให้สามารถผ่านหลอดลมและกระจายเข้าไปได้ทั่วทั้งปอด ผลที่ตามมาก็คือ จะทำให้คนปกติกลายเป็นโรคภูมิแพ้ขึ้นมาได้  และในคนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว ก็จะมีอาการ เช่น อาการหอบหืด รุนแรงมากขึ้นได้

กาซจากการเผาไหม้

ปัจจัยต่อมา ได้แก่ก๊าซต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ หรือเกิดจากกระบวนการเผาไหม้ ในโรงงานอุตสาหกรรม  เช่น  ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์  ก๊าซโอโซน  ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์  แม้ว่าในปัจจุบัน การศึกษาโดยวัดปริมาณก๊าซต่างๆดังกล่าว ในเขตกรุงเทพมหานครจะพบว่า  ระดับของก๊าซยังไม่สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่มีแนวโน้มว่าระดับของก๊าซเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  ก๊าซเหล่านี้จะไปทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ รุนแรงมากขึ้น

หนทางแก้ไข  และผลกระทบที่ควรยอมรับ?

ในปัจจุบัน มีความพยายามควบคุมปริมาณฝุ่นละออง และก๊าซต่างๆที่เป็นพิษนี้ ให้ต่ำกว่าระดับที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตอุตสาหกรรม ทั้งการควบคุมปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง ควบคุมก๊าซพิษที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม  และควบคุมปริมาณไอเสียจากรถยนต์ เพื่อที่จะทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม  มาตรการควบคุมบางประการจะมีผลกระทบต่อผู้สัญจรไปมาบ้าง เช่นมาตรการควบคุมปริมาณการจราจรในถนนบางสายที่ผ่านมา  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณไอเสียและฝุ่นละอองสะสม  รวมทั้งในถนนเป้าหมายนั้น  เป็นบริเวณที่มีการถ่ายเทอากาศในระดับต่ำ  จากสภาพตึกสูงที่บดบังการไหลเวียนกระแสอากาศ  จึงมีความพยายามผลักดันการจราจรในเส้นทางเหล่านี้  ไปที่เส้นทางอื่นแทน  ทำให้ผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยเส้นทางที่ถูกควบคุมไม่ได้รับความสะดวกสบาย

แต่ถ้าการรณรงค์ต่างๆเหล่านี้ประสบความสำเร็จ ก็น่าจะลดจำนวนและความรุนแรงของมลภาวะลงได้  ความรุนแรงและจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ก็น่าจะลดลงได้เช่นกัน.