6.1 ลดกำมะถัน เพื่ออากาศบริสุทธิ์
ในสังคมที่รถยนต์กลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีพ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆทั่วโลก สาเหตุหลักของมลภาวะทางอากาศคงหนีไม่พ้นไอเสียจากรถยนต์ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงกับมีเมืองหลวงของบางประเทศต้องประกาศ "ปิดเมือง"ห้ามรถยนต์วิ่ง เนื่องจากปริมาณกาซพิษขึ้นสู่ระดับที่สูงมาก จนเป็นอันตรายต่อประชาชน
ในบรรดาจำเลยที่ถูกพาดพิงถึงบ่อยๆได้แก่ สารไฮโดรคาร์บอนหรือเบนซิน, ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx), คาร์บอนมอนอกไซด์ และฝุ่นละอองในอากาศ
แต่ในน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งน้ำมัน"เบนซิน"ที่เราชอบเรียกขานกัน และน้ำมันดีเซลล้วนมีสารอีกตัวหนึ่งได้แก่กำมะถัน เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยในปริมาณน้อยๆ แม้จะไม่มีชื่อเสียงโด่งดังในการทำอันตรายต่อผู้คน เท่าพวกพ้องอีก 2 - 3 ตัวที่ขึ้นชื่อไว้ แต่ปัญหาที่ถูกเพ่งเล็งคือ"กำมะถัน"ทำตัวเป็นพิษต่อระบบกำจัดไอเสียของรถยนต์
พิษจากออกไซด์ของไนโตรเจน และ PM10
เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา (1998) มีการเสนอในที่ประชุมกลุ่มประชาคมยุโรป ให้ลดค่ามาตรฐานของสารพิษที่สำคัญในอากาศคือ NOx และ PM10 (ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน) ลงจากปัจจุบัน เนื่องจากทั้งคู่มีส่วนสำคัญ ในการทำให้เกิดความผิดปกติร้ายแรงต่อระบบทางเดินหายใจ ประมาณว่าในปีหนึ่งๆ เฉพาะในอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตจากการสูดดม PM10 มากกว่า 10,000 คน
โดยทั่วไปเท่าที่สัมผัสได้และมองเห็นด้วยตาเปล่า จะพบว่ามีฝุ่นละอองล่องลอยในอากาศเป็นจำนวนมาก แต่ฝุ่นที่เห็นหรือสัมผัสได้นี้จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเมื่อสูดดมเข้าไปมักจะถูกดักจับไว้ได้ด้วยขนจมูก หรือเยื่อบุหลอดลมที่มีขนเล็กๆและเมือกคอยดักจับสิ่งแปลกปลอม จะมีฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่า 10 - 20 ไมครอนเท่านั้น ที่จะเล็ดลอดลงไปถึงหลอดลมขนาดเล็กๆลึกลงไปในปอด และทำอันตรายต่อร่างกายได้
แก้ไม่ได้ ถ้ายังมีกำมะถัน
NOx สามารถถูกกำจัดโดยคาตาไลติค คอนเวอร์เตอร์ ในขณะที่ PM10 สามารถใช้ตัวกรองดักจับได้ แต่อุปกรณ์ทั้งสองจะมีประสิทธิภาพลดลง ถ้าในเชื้อเพลิงที่ใช้มีปริมาณกำมะถันอยู่สูง เพราะฉะนั้นเป้าประเด็นจึงพุ่งไปที่ การลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเชื้อเพลิงลง
มีการประมาณกันว่าในกรุงลอนดอน เครื่องยนต์ดีเซลจากรถประจำทาง รถบรรทุก และแทกซี่เป็นผู้สร้าง PM10 ถึง 90 เปอร์เซนต์ของ PM10 ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศทั้งหมด และเครื่องกรองไอเสียหรือแคตตาไลติค คอนเวอร์เตอร์ ที่ติดตั้งในรถดีเซลรุ่นเดิมๆ ก็มีเพียงขีดความสามารถในการกำจัดคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอน แต่ไม่สามารถจัดการกับ NOx ได้ สำหรับแคตที่สามารถกำจัด NOx (de NOX-KAT) ในรถยนต์ดีเซลออกไปได้นั้นเพิ่งมีการคิดค้นขึ้นไม่นานนี้ แต่มีข้อแม้คือต้องใช้ร่วมกับน้ำมันที่มีระดับกำมะถันต่ำมาก และเช่นเดียวกัน อุปกรณ์ดักจับ PM10 ที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งมีหลักการทำงานโดยการเผาผลาญอนุภาคเหล่านี้ให้หมดสิ้น ด้วยการใช้พลาตินัมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ก็มีจุดอ่อนที่พลาตินัมจะเสื่อมสมรรถภาพถ้าเจอกับกำมะถันเข้า ระดับกำมะถันที่ผู้ผลิตอุปกรณ์นี้กล่าวว่าสามารถทนได้มีค่าเพียง 10 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เท่านั้น
ปัจจุบันในบางประเทศเช่นในกลุ่มสแกนดิเนเวีย มีระดับกำมะถันในเชื้อเพลิงต่ำมาก ที่ระดับประมาณ 10 - 50 ppm เท่านั้น ในขณะที่พื้นที่อื่นๆในยุโรปมีระดับกำมะถันเฉลี่ยในน้ำมันดีเซลที่ระดับ 200 ppm
ความต้องการระดับกำมะถันอยู่ที่เท่าไหร่ ?
เมื่อ 2 ปีก่อน ที่ประชุมรัฐสภายุโรป เสนอให้ลดปริมาณกำมะถันในน้ำมันเบนซินลงเหลือ 30 ppm ภายในปี ค.ศ.2000 (ขณะนี้ ระดับสูงสุดของกำมะถันในน้ำมันดีเซลสำหรับยุโรป ตามมาตรฐาน EU 1996 standard -EN 590 อยู่ที่ 500 ppm) สำหรับน้ำมันดีเซลให้ลดเหลือ 100 ppm ในปี 2000 และภายในปี 2005 ต้องลงไปที่ระดับ 50 ppm เป้าหมายหลักของอากาศบริสุทธิ์ในเมืองใหญ่เพ่งเล็งไปที่ น้ำมันดีเซลซึ่งสรุปว่าเป็นต้นตอสำคัญของ NOx และ PM10
แน่นอน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ รีบออกมาสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว เพราะการจะสร้าง "CLEAN VEHICLE" ออกมาโดยยังมีเชื้อเพลิงที่ไม่สะอาดย่อมเป็นภาระหนักกับผู้ผลิตรถยนต์ แต่ผู้ที่เดือดร้อนจากเกณฑ์ดังกล่าวคือบริษัทน้ำมันทั้งหลายก็ออกโรงตอบโต้ เพราะต้องเสียเงินในการปรับปรุงกระบวนการกลั่นเพิ่มขึ้นไปอีก
ตัวแทนจากบริษัทน้ำมันกล่าวว่ากลุ่มบริษัทน้ำมันในยุโรป เพิ่งจะลดค่ากำมะถันจาก 2000 ppm ลงเหลือ 500 ppm เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถ้าจะต้องลดลงอีกตามที่เสนอไว้ อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบการกลั่นน้ำมัน สูงถึงห้าแสนล้านบาททีเดียว พร้อมทั้งโยนไปให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ว่า การจะปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องยนต์ ให้ผลิตมลภาวะลดลง จะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการปรับปรุงน้ำมันถึง 6 - 7 เท่าทีเดียว
ดูเหมือนว่าจะมีผู้เข้าข้างบริษัทรถยนต์มากกว่าบริษัทน้ำมัน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบอกว่า
การปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจะมีผลต่อสภาวะแวดล้อมทันที นั่นหมายถึงทั้งรถเก่าและรถใหม่ก็จะผลิตมลภาวะลดลง
และยังมีผู้คำนวณออกมาว่าสำหรับการลดปริมาณกำมะถันให้เหลือ 30 ppm นั้น
ผู้ที่ใช้รถยนต์เฉลี่ย 12,600 กิโลเมตรต่อปี น่าจะเสียค่าน้ำมันอันเป็นผลพวงจากการปรับปรุงครั้งนี้เพิ่มขึ้นเพียงปีละ
230 บาท
มาตรการใหม่นี้ มีทั้งประเทศที่สนับสนุน และประเทศที่คัดค้านอยู่ในกลุ่มประชาคมยุโรปนั่นเอง ขึ้นอยู่กับใครจะได้ประโยชน์จากฝ่ายใด จนถึงวันนี้ เส้นทางสู่อากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ยังมีอุปสรรคขวากหนาม และทอดตัวไปอีกยาวไกล