บทที่ 3  เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก

3.3 มาตรฐานใหม่ ของเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก

อ่านมาถึงตรงนี้  คงรู้จักเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กกันในหลายแง่มุมแล้วนะครับ  และคงเห็นประเด็นเรื่องข้อบกพร่องบางประการ ที่ควรระวังในการติดตั้งและการใช้งาน เนื่องมาจากมีรถยนต์เพียงไม่กี่รุ่น ที่สามารถเลือกติดตั้งเบาะสำหรับเด็กจากโรงงานได้

จุดอ่อนของการใช้ที่พบเห็นได้บ่อยคือ การติดตั้งเข้ากับเบาะในรถยนต์ เคยมีเพื่อนฝูงเล่าให้ฟังว่า กว่าจะติดตั้งได้ต้องใช้เวลาปล้ำกันอยู่นาน  เรื่องนี้เป็นปัญหานานาชาติครับ ในอเมริกาสำรวจพบว่า ผู้ปกครองจำนวนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่เคยติดตั้งผิดวิธีมาแล้ว เช่นเดียวกับในเยอรมนี พบว่ามีเบาะนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ที่ติดตั้งไม่ถูกวิธีถึง 63 เปอร์เซ็นต์

ต้องลดความยุ่งยากในการใช้งาน

หน่วยงานที่ดูแลด้านความปลอดภัยทั้ง 2 ฝั่งแอตแลนติค ได้ร่วมกันค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ที่อาจทำให้เกิดการปฏิเสธการใช้อุปกรณ์นี้ จนทำให้ความปลอดภัยในรถยนต์ของเด็กเล็กลดลง  ขณะนี้มีการคิดค้นและออกแบบจุดยึดเบาะสำหรับเด็ก เข้ากับเบาะนั่งในรถยนต์หลายรูปแบบ และคาดว่าน่าจะมีเพียง 2 ชนิด ที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับใช้ทั่วโลก

 แบบแรกมาจากผู้ผลิตในยุโรปซึ่งเป็นสมาชิกของ INTERNATIONAL STANDARDS ORGANIZATION หรือ ISO ที่ได้ยินกันบ่อยๆ โดยมีการพัฒนาตั้งแต่ปี 1990 ในชื่อว่า ISOFIX  และอีกแบบ เป็นผลผลิตที่เริ่มต้นจากค่ายลุงแซมทั้งฟอร์ด จีเอ็ม และไครสเลอร์  ก่อนจะได้กลุ่มผู้ผลิตจากญี่ปุ่นเข้ามาสนับสนุนอีกกลุ่มใหญ่ ทั้ง ฮอนด้า, อีซูซุ, โตโยต้า, นิสสัน และซูบารุ โดยมีชื่อเรียกว่า UNIFORM CHILD RESTRAINT ANCHORAGE หรือ UCRA

ISOFIX
 
ที่นั่งสำหรับเด็กแบบนี้มีขายึด 2 ขา ที่สามารถล็อกเข้ากับสลักยึด ซึ่งติดตั้งอยู่กับเบาะด้านหลังรถยนต์ทุกคันเป็นมาตรฐาน สลักยึดนี้ติดตั้งอยู่ตรงรอยต่อ ระหว่างพนักพิงกับเบาะ

ข้อดีของ ISOFIX คือ ใช้งานง่าย ไม่สับสน แค่วางเบาะนิรภัยชนิดนี้ลง และเสียบขายึดเข้ากับสลักล็อกให้เข้าที่  ก็สามารถใช้งานได้ทันที แต่มีข้อเสีย คือ น้ำหนักมาก และราคาค่อนข้างสูง 

UCRA
 
พื้นฐานของแนวคิดนี้ คือ มีจุดยึดเป็นสลักล็อก ต่อกับเข็มขัดซึ่งยึดอยู่กับโครงเบาะสำหรับเด็ก ลักษณะเหมือนกับตัวล็อกในเข็มขัดนิรภัยที่ใช้กันอยู่ โดยยึดเข้ากับแป้นเหล็กที่ติดตั้งยื่นออกมา ตรงรอยพับของเบาะหลัง แป้นเหล็กนี้มีหน้าตา เหมือนกับที่ติดอยู่บนสายเข็มขัดนิรภัยเช่นเดียวกัน

ข้อดีที่เห็นได้ชัด คือ ใช้งานได้สะดวก เพราะเหมือนเข็มขัดนิรภัย และราคาถูกกว่า แต่ในการทำวิจัยพบว่า อาจเกิดความสับสนในการใช้งานได้ เนื่องจากในการทดลองติดตั้ง มีอาสาสมัครบางคน นำตัวล็อกที่ตัวเก้าอี้เด็ก มาเสียบเข้ากับสายเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ แทนที่จะไปเสียบกับจุดยึดบริเวณรอยพับของเบาะในรถยนต์

สถานการณ์ในสหรัฐและยุโรป

ข้อสรุปขณะนี้คือ NHTSA ซึ่งดูแลด้านความปลอดภัยของการใช้รถยนต์ในอเมริกา ได้ร่างกฎเกณฑ์ให้รถยนต์นั่งทุกคันที่ออกวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1998 ที่ผ่านมา  ต้องติดตั้งจุดยึดนี้เข้ากับเบาะหลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์เลือกติดตั้งแบบหนึ่งระหว่างจุดยึดแบบ ISOFIX หรือแบบ UCRA ถ้าใครเลือกผลิตจุดยึดแบบ ISOFIX อาจยุ่งยากเล็กน้อย เพราะต้องมีตัวเชื่อมต่อ (CONNECTOR)  ที่สามารถนำเบาะนิรภัยสำหรับเด็กแบบ UCRA มาเสียบเข้ากับตัวล็อกแบบ  ISOFIX ได้ด้วย

สำหรับผู้ผลิตเบาะสำหรับเด็กในรถยนต์ที่จำหน่ายในอเมริกา ก็ต้องผลิตออกมาให้มีหัวล็อกแบบ UCRA ติดตั้งเป็นมาตรฐาน  ส่วนทางฝั่งยุโรป  มีการเผยแพร่ระบบ ISOFIX อย่างแพร่หลาย  และรถยนต์รุ่นใหม่ๆก็ได้ติดตั้งหัวยึดแบบ ISOFIX มาในที่นั่งหลังเรียบร้อย  ในขณะที่ผู้ผลิตเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก  ก็ได้วางจำหน่ายเก้าอี้แบบ ISOFIX ออกมาแล้วเช่นกัน
 
ส่วนในเมืองไทย ข่าวล่าสุดก็คือ โฟล์ค พาสสาท ที่จะประกอบในประเทศ น่าจะเป็นรถยนต์รุ่นแรกในบ้านเรา ที่ติดตั้งระบบ ISOFIX มาให้ที่เบาะหลัง นั่นหมายถึงว่า ทางผู้แทนจำหน่ายคงต้องนำ เก้าอี้นิรภัยชนิด ISOFIX มาจำหน่ายพร้อมกันไปด้วย...ต้องขอปรบมือให้ด้วยความจริงใจครับ...