บทที่ 3  เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก

3.2 เมื่ออยากใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก

เมื่อได้ทำความรู้จักกับ เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ กันมาพอสมควรแล้ว  คราวนี้ผู้ที่คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้งานของอุปกรณ์ชิ้นนี้ ก็ต้องมาศึกษากันละครับว่า  ทำอย่างไร จึงจะใช้งานให้สมราคา และไม่เกิดข้อผิดพลาด 

ที่กล่าวถึงข้อผิดพลาดจากการใช้งาน  เนื่องจากเก้าอี้นิรภัยเป็นอุปกรณ์เสริม ที่ต้องติดตั้งเข้ากับรถยนต์ในภายหลัง  และต่างรุ่นกัน ก็มีรายละเอียดในการติดตั้งต่างกันไป  ข้อสำคัญคือ  ถ้าติดตั้งใช้งานไม่ถูกต้อง  นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันอันตรายต่อเด็กแล้ว  ยังอาจจะเกิดผลเสียตามมาได้ 

ในสหรัฐอเมริกาแม้จะมีกฎหมายบังคับใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก แต่จากการสำรวจในปี 1992 พบว่าในเด็กกลุ่มตัวอย่างจำนวน 717 คน พ่อแม่ให้เด็กได้นั่งในเก้าอี้นิรภัยเพียง 55 เปอร์เซ็นต์ และในจำนวนนี้ มีถึง 63 เปอร์เซ็นต์ที่พ่อแม่ติดตั้งเก้าอี้นิรภัยผิดวิธี 

การติดตั้งที่ไม่ถูกต้อง

ลักษณะการใช้ผิดวิธี มีรายงานมากมาย เช่น วางเก้าอี้นิรภัยไว้กับเบาะที่นั่ง แต่ไม่ยึดกับเข็มขัดนิรภัยของตัวรถยนต์, ไม่ใส่สายรัดตัวเด็ก, ใช้เก้าอี้สำหรับทารก แต่หันหน้าไปด้านหน้ารถ,  ใส่ตำแหน่งสายรัดไม่ถูกต้อง ฯลฯ

ลักษณะของเก้าอี้นิรภัยประเภทที่มีสายรัดในตัว ใช้กับเด็กทารก-อายุประมาณ 3-6 ขวบ จะใช้เข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ยึดเก้าอี้ไว้กับเบาะนั่ง ส่วนตัวเด็กจะยึดกับเก้าอี้ด้วยสายรัดอีกทีหนึ่ง ในเด็กเล็กๆ จะมีสายรัด 3 จุด ที่ไหล่ทั้ง 2 ข้าง และอีกเส้นอยู่ระหว่างขา ส่วนเด็กที่โตขี้นมาหน่อย พวกเริ่มหัดเดินได้ จะใช้จุดรัด 5 จุด โดยเพิ่มสายคาดสะโพกขึ้นมาเป็นจุดรัดอีก 2 จุด (รูปที่ 1, 2) เก้าอี้นิรภัยบางรุ่นจะมีแผ่นกระจายแรงกระแทก (SHIELD) ใช้วางบริเวณหน้าท้องเด็ก เพื่อลดแรงกระแทกที่เกิดจากตัวล็อกสายรัดที่มีตำแหน่งอยู่บริเวณนั้น

กรณีตัวอย่าง การใช้งานที่ผิดพลาด

ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ถ้าใช้งานไม่ถูกต้อง เริ่มตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย จนถึงเสียชีวิต ตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ตามลำดับ
 
  กรณีแรก เป็นเด็กอายุ 3 เดือน โดยสารในรถยนต์ ซึ่งอยู่ในเก้าอี้นิรภัยที่วางในเบาะหลัง โดยถูกวางให้หันหน้าไปด้านหน้า ใช้สายรัดไหล่มารัดที่เอวแทน เพราะพ่อแม่รู้สึกสะดวกกว่า และไม่ใส่สายรัดระหว่างขา เพราะรู้สึกว่าไม่จำเป็น ปรากฎว่าหลังเกิดอุบัติเหตุรถพุ่งไปชนต้นไม้ เด็กถูกนำส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตในเวลาต่อมา จากการชันสูตรพบว่า เด็กเสียชีวิตจาการเสียเลือดมาก เนื่องจากอวัยวะในช่องท้องฉีกขาด โดยไม่มีแผลที่หน้าท้อง 

แพทย์อธิบายว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากเด็กมีสายรัดตัวเทียบเท่ากับรัดเพียง 2 จุดแทนที่จะเป็น 5 จุด เมื่อเกิดการชนกันขึ้น ลำตัวทั้งส่วนบนและล่างจึงพุ่งไปข้างหน้า โดยมีสายรัดเอวเป็นจุดไม่เคลื่อนที่ เหมือนบานพับ แรงกระแทกจากสายรัดเอว จึงถ่ายทอดเข้าไปในช่องท้อง ทำให้ตับฉีกขาดอย่างรุนแรงจนเด็กเสียชีวิต

 
กรณีที่ 2 เป็นเด็กอายุ 16 เดือน คราวนี้รัดสายครบ 4 จุด สายรัดระหว่างขาหลวมหลุดออกไป (รูป A)

เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ตัวเด็กจึงลื่นไถลลงมาตามเก้าอี้ (รูป B) รายนี้ไม่เสียชีวิต แต่ตรวจพบว่ากระดูกต้นคอหัก ต้องเข้าเฝือกอยู่ 3 เดือน

 

ลักษณะตัวอย่างทั้ง 2 ข้างต้นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเด็กถูกรัดไว้กับเก้าอี้นิรภัยอย่างถูกต้อง  ตามสถิติแล้ว อุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถลดอัตราการบาดเจ็บ และอัตราการตายลงอย่างชัดเจน ต้องการเพียงแค่ความใส่ใจในการใช้งานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงได้เป็นกฎหมายบังคับใช้อยู่ในหลายประเทศ

เด็กกับถุงลมนิรภัย

สิ่งที่ต้องระวังให้มากอีกประการหนึ่งได้แก่ การใช้เก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กในรถที่มีถุงลมนิรภัย 2 ใบ ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ที่ต้องติดตั้งเก้าอี้แบบหันหน้าไปท้ายรถ ห้ามติดตั้งเก้าอี้นิรภัยในที่นั่งที่มีถุงลมนิรภัยร่วมด้วยเด็ดขาด ให้ติดตั้งเก้าอี้นิรภัยไว้หลังรถเสมอ

ในอเมริกามีรถบางรถรุ่นที่มีสวิตช์ตัดการทำงานของถุงลมนิรภัยใบข้างคนขับได้ แต่รถยนต์โดยทั่วไป จะใช้เซ็นเซอร์ตรวจสอบว่ามีน้ำหนักลงที่เบาะหรือไม่ ถ้ามีถุงลมนิรภัยก็จะทำงาน ซึ่งจะก่ออันตรายร้ายแรงต่อเด็กได้ ส่วนรถที่ไม่มีถุงลมนิรภัย หรือมีเพียงที่คนขับใบเดียวก็ไม่มีปัญหา

แม้ว่าตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับการติดตั้งเก้าอี้นิรภัยได้แก่เบาะหลัง แต่วิธีการหนึ่งซึ่งมีผู้นิยมใช้กันคือ ถ้าพ่อหรือแม่ขับรถไปเพียงคนเดียวร่วมกับเด็ก ก็จะติดตั้งเก้าอี้นิรภัยไว้ด้านข้างคนขับแต่ถ้ามีผู้ใหญ่เดินทางด้วย 2 คนขึ้นไปก็จะติดตั้งเก้าอี้นิรภัยไว้ที่เบาะหลังและมีผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนไปดูแลเด็กที่ด้านหลังรถ

แนวทางที่น่าสนใจ ในการเช่าเก้าอี้นิรภัย

มีโครงการที่ใช้กันอยู่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาที่น่าสนใจ ได้แก่ การเช่ายืมเก้าอี้นิรภัย เพราะบางคนอาจจะไม่ได้เดินทางบ่อยๆ บางคนอาจไม่พร้อมที่จะซื้อหามาเป็นของตัวเองหรือเมื่อเด็กโตขึ้นก็ต้องเลิกใช้ จึงมีการตั้งเป็นกลุ่มรวมตัวกันขึ้น และมีเก้าอี้นิรภัยแบต่างๆ ให้เช่ายืมได้เป็นครั้งคราวไป ลักษณะนี้ถ้าทางบริษัท หรือองค์กรใดจะนำไปใช้บ้าง ก็เข้าท่าดีครับ

มาถึงตรงนี้ ผู้ที่มีเด็กๆอยู่ในครอบครัว และจำเป็นต้องเดินทางไปไหนมาไหนด้วยกันในรถยนต์  ลองเริ่มมาทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ชิ้นนี้ดู และเมื่อตกลงปลงใจซื้อหามาใช้แล้ว  ก็ต้องศึกษาการใช้งานตามคู่มือให้ละเอียดสักนิดครับ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย

ถ้าแม้อุปกรณ์นี้ได้ทำงานเพียงแค่ครั้งเดียวในช่วงอายุการใช้งาน  คุณคิดว่าคุ้มค่าไหมล่ะครับ