บทที่ 2  เข็มขัดนิรภัย

2.2 เข็มขัดนิรภัย  ในสตรีมีครรภ์
 
อาจจะมีบางคน  รู้สึกสงสัยถึงการใช้เข็มขัดนิรภัยในสตรีมีครรภ์  ว่าจะเกิดผลเสียต่อเด็กในท้อง  หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นหรือไม่  เนื่องจากมองดูแล้ว เหมือนกับว่าเข็มขัดนิรภัย อาจจะกระชากกดทับหน้าท้อง ที่มีทารกอยู่ภายในได้

ตามธรรมชาติในครรภ์มารดานั้น เด็กจะอยู่ภายในมดลูก และระหว่างผนังมดลูกกับตัวเด็ก จะมีน้ำคร่ำอยู่โดยรอบ ซึ่งน้ำคร่ำนี้นอกจากจะทำหน้าที่เกี่ยวกับ กระบวนการชีวภาพต่างๆ  ในร่างกายเด็ก ยังทำหน้าที่รับและกระจายแรงกระแทกที่มีต่อตัวของแม่ ให้ทุเลาเบาบางลง ก่อนจะถึงตัวเด็ก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแรงกระแทกที่เข้ามาสู่หน้าท้องแม่จะไม่สามารถทำอันตรายต่อเด็ก แต่แรงดังกล่าว อาจจะไปทำให้รกเกิดการฉีกขาดแยกตัวออกจากมดลูก (ทางการแพทย์ เรียกภาวะนี้ว่า Abruptio Placentae) ซึ่งภาวะดังกล่าว  จะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อเด็กในท้อง และต่อแม่เองได้
 
เมื่อคุณแม่ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย

เป็นที่ยอมรับกันว่า  สตรีตั้งครรภ์ ยังจำเป็นต้องใช้เข็มขัดนิรภัยในขณะโดยสารในรถยนต์   มีการศึกษาในสตรีมีครรภ์ที่ได้รับอุบัติเหตุในรถยนต์จำนวน 2592 คน  แบ่งเป็นฝ่ายที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 1,349 คนหรือราวครึ่งหนึง  พบว่า  แม่ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย  มีอัตราเสี่ยง 1.9 เท่าที่จะให้กำเนิดลูก ซึ่งมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ  และมีอัตราเสี่ยงที่จะแท้งภายใน 48 ชม.ให้หลังสูงกว่ากลุ่มแม่ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง  2.3  เท่า

นอกจากนี้ จากอุบัติเหตุที่รวบรวมทั้ง 2592 ราย  มีทารกเสียชีวิตในครรภ์ 9 ราย  โดย 7 ใน 9 ราย หรือราว 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดในแม่ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย

ข้อเท็จจริงที่ต้องคำนึงถึงคือ  แม้แม่จะไม่ได้รับการกระแทกที่ท้องอย่างรุนแรง  แต่ถ้าแม่ได้รับบาดเจ็บบริเวณอื่นของร่างกาย  และมีการเสียเลือดมาก  ทำให้ระบบยังชีพของแม่ทำงานไม่เพียงพอ  โลหิตไหลเวียนที่จะนำออกซิเจนไปสู่ลูกก็ย่อมน้อยลง  จนทำให้เด็กในท้องอยู่ในภาวะวิกฤติได้
 
ใส่เข็มขัดอย่างไรดี

การใส่เข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้องคือ  ให้สายพาดเอว  อยู่ต่ำกว่าหน้าท้องลงมา โดยพาดผ่านหน้าต่อข้อสะโพกทั้งสองข้าง  ห้ามคาดสูงกว่าหน้าท้องที่ยื่นออกมาเด็ดขาด  ส่วนสายพาดไหล่  พาดทับค่อนไปทางเหนือหน้าท้อง  วิธีนี้เชื่อว่า  จะกระจายแรงกระแทกที่เกิดจากการกระชากกลับของเข็มขัดนิรภัย ไปตามลำตัวของแม่  และที่สำคัญถ้านั่งในรถที่มีแอร์แบ็ก  ต้องวางระยะห่างให้ดี  ไม่ให้แอร์แบ็กพุ่งมากระแทกกับหน้าท้องอย่างจังได้

ในขณะนี้ นักวิจัยกำลังสร้างหุ่นทดสอบการชน  ในลักษณะของหญิงตั้งครรภ์ขึ้น  โดยมีหุ่นทารกอยู่ภายในท้อง  ซึ่งมีมดลูกเทียมทำจากวัสดุสังเคราะห์อยู่ด้วย  เพื่อทำการศึกษาสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น กับมารดาตั้งครรภ์ซึ่งโดยสารในรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ  โดยหวังว่าในอนาคต จะมีระบบยึดรั้ง (Restraint System) ในรถยนต์  ที่ออกแบบมาสำหรับให้ความปลอดภัยกับหญิงมีครรภ์โดยเฉพาะได้สำเร็จ
 
สำหรับว่าที่คุณแม่ทั้งหลายในขณะนี้  ข้อแนะนำคือยังต้องคาดเข็มขัดนิรภัยในขณะโดยสารรถยนต์  เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก  ขอให้ระลึกเสมอว่า  ความปลอดภัยของลูกขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของแม่ - The unborn child's safety depends on its mother's safety