บทที่1 อีกแง่มุมหนึ่ง ของนวัตกรรมยานยนต์

ตั้งแต่รถยนต์คันแรก ออกสู่สายตาสาธารณชนเมื่อกว่า 1 ศตวรรษที่ผ่านมา วิวัฒนาการของรถยนต์ ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมามากมาย  เริ่มต้นจากพาหนะหรูหราสำหรับชนชั้นสูง มาสู่ปัจจัยที่ห้าซึ่งแทบจะขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน   จากการขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เทอะทะด้อยประสิทธิภาพ สู่เครื่องยนต์ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงทรงสมรรถนะ  และจากจุดซึ่งความสนใจมุ่งอยู่กับการเป็นเพียงยานพาหนะ ที่ช่วยให้คนเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าการเดิน  สู่การคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

เมื่อรถยนต์ยังเคลื่อนด้วยความเร็วต่ำ การมุ่งความสนใจไปที่กลไกการขับเคลื่อน  ดูจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด  แต่เมื่อความเร็วของรถยนต์เพิ่มมากขึ้น  ผู้คนก็เริ่มตระหนักว่า  อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น อาจจะคร่าชีวิตผู้ขับขี่และผู้โดยสารได้  การสำรวจตรวจตราถึงความปลอดภัย ในการขับขี่ยวดยานชนิดนี้จึงเริ่มขึ้น
 
   ปี ค.ศ. 1959  อุปกรณ์นิรภัยชิ้นสำคัญชิ้นแรก ได้รับการคิดค้นขึ้นโดย วิศวกรอากาศยานชาวสวีเดน Nils Bohlin ซึ่งทำงานให้กับบริษัท วอลโว่  Bohlin ได้สังเกตว่า  การจะยึดให้ร่างกายผู้ขับขี่ติดอยู่กับที่นั่ง ในขณะที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุ  จำเป็นต้องมีสายรัดที่บริเวณหน้าอก 1 เส้น และที่หน้าตักอีก 1 เส้น  แต่จุดสำคัญคือ ต้องให้ใช้งานได้สะดวกและควรควบคุมด้วยมือเพียงข้างเดียว  แนวคิดทั้งหมดที่กล่าวมา  กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเข็มขัดนิรภัย แบบ 3 จุด ซึ่งได้รับการติตตั้งในรถยนต์ วอลโว่ 544 ซีดาน เป็นรุ่นแรก 
แม้ในระยะต้นๆ  อุปกรณ์ชิ้นนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ไม่ต่างกับการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆอีกหลายชิ้น  แต่วอลโว่ก็ยังเดินหน้ากับโครงการต่อไป มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์วอลโว่ ที่จำหน่ายในประเทศสวีเดนทุกคัน จนกระทั่งปี 1963 จึงเริ่มติดตั้งกับรถยนต์ที่ส่งไปขายยังต่างประเทศ

ถัดจากนั้นอีก 3 ปี ในปี 1966 วอลโว่ ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาตลอด จึงเผยแพร่รายงานชิ้นสำคัญ คือ "รายงานอุบัติเหตุ 28,000 ราย" (28,000 accident  report)  ซึ่งกล่าวว่าเข็มขัดนิรภัย ได้ช่วยชีวิตผู้คนไว้หลายพันชีวิต และรายงานนี้ก็ได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกา ผ่านกฏหมายบังคับใช้เข็มขัดนิรภัย ในปี 1968

ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ต่อต้นทศวรรษ 1970 นั้นเอง ที่ถุงลมนิรภัย ได้เริ่มเปิดตัวขึ้น มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย ในรถรุ่นสูงๆของจีเอ็ม ที่วางขายในสหรัฐอเมริกา และในช่วงไล่เลี่ยกัน ฟอร์ดก็เริ่มติดตั้งในรถยนต์ของตนเอง

แต่ชะตากรรมของถุงลมนิรภัย แทบจะเป็นคนละเรื่องกับความสำเร็จของเข็มขัดนิรภัย ตั้งแต่เริ่มมีการแนะนำถุงลมนิรภัย ก็มีผู้คาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดตามมา   Lee Iacocca  อดีตเจ้านายใหญ่ของไครสเลอร์ เคยกล่าวไว้ในปี 1984 ว่า ถุงลมนิรภัยนั้น "ก่อปัญหาที่หนักหนากว่าตัวปัญหาเองเสียอีก" (solution being worse than the problem)

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาก็ยังดำเนินต่อไป ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ ถุงลมนิรภัย เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกชิ้นหนึ่ง  และแม้จะมีข้อมูลชี้ว่า มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานของถุงลมนิรภัย ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลายก็เห็นพ้องต้องกันว่า มีผู้รอดชีวิตจากถุงลมนิรภัยในอัตราส่วนที่สูงกว่ามาก และควรดำเนินการพัฒนาต่อไป

ในยุคที่อุปกรณ์อิเลคโทรนิคต่างๆ มีผลอย่างมากกับเทคโนโลยียานยนต์  อุปกรณ์นิรภัยทั้งสองชิ้นนี้ ก็อยู่ในข่ายการพัฒนาเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านี้เช่นกัน  สำหรับเข็มขัดนิรภัยที่ผ่านการพิสูจน์มายาวนานถึง 40 ปี รูปร่างหน้าตาแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นแบบเดิม  การนำอุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์เข้ามาเสริม มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นไปอีก แต่ยังคงพื้นฐานการทำงานที่เรียบง่ายของเข็มขัดนิรภัยไว้ ซึ่งวิถีทางนี้คงจะเทียบเคียงได้กับ วิวัฒนาการของเครื่องยนต์ ที่หลักการพื้นฐานในการทำงานตั้งแต่เริ่มออกแบบ  ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องยนต์เบนซิน ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน  อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ที่เพิ่มเติมเข้ามา เพียงช่วยเสริมประสิทธิภาพของเครื่องยนต์เท่านั้น

ส่วนถุงลมนิรภัยนั้น มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ต่างๆ  เข้ามาแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น เพื่อให้ถุงลมนิรภัย บรรลุวัตถุประสงค์ ในการรักษาชีวิตผู้อยู่ในรถได้โดยสมบูรณ์ โดยไม่ก่อผลข้างเคียงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้  และในอีกไม่นานนี้ ถุงลมนิรภัยยุคใหม่ จะมาแทนที่ถุงลมนิรภัยแบบปัจจุบันโดยสมบูรณ์

นอกจากการพัฒนาด้านความปลอดภัย  การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็กลายเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่ง ที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเผชิญ โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ 1990 นี้ กับกระแสการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งก่อตัวอย่างรุนแรง รถยนต์กลายเป็นเป้าโจมตีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการทำงานของเครื่องยนต์ ต้องใช้การสันดาปเชื้อเพลิง ซึ่งมักจะมีสิ่งตกค้างจากการเผาไหม้ออกไปล่องลอยอยู่ในอากาศ  ทำให้เกิดมลภาวะขึ้น

การเคลื่อนไหวขององค์กรที่ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ตลาดรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ ต้องให้ความสนใจ  ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม นำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ เพื่อทำให้รถยนต์ ผลิตมลภาวะในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เป็นจุดกำเนิดของรถยนต์มลภาวะต่ำ อันได้แก่  LEV (Low Emission Vehicle), ULEV (Ultra Low Emission Vehicle) และ ZEV (Zero Emission Vehicle)

ทั้ง LEV และ ULEV สามารถผ่านขั้นตอนการพัฒนา จนออกจำหน่ายได้ ในระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุนแล้ว  แต่ ZEV ยังต้องเผชิญปัญหาในแง่การผลิต ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือรถยนต์ขับเคลื่อนด้วย ไฮโดรเจน ที่จะต้องตอบโจทย์ซึ่งทยอยเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย  จนดูเหมือนว่า  เราคงยังไม่เห็น ZEV ในท้องถนนได้ในเร็ววันนี้
 
เส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์  ยังจะต้องดำเนินต่อเนื่องไป เพื่อให้ได้รถยนต์ที่ไม่ใช่เพียงแค่พาหนะขับเคลื่อนที่รวดเร็ว ทรงพลัง  แต่ยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร  ตลอดไปจนถึง ความปลอดภัยของผู้ที่อยู่ภายนอกรถยนต์  ซึ่งหมายรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราอีกด้วย