เทคโนโลยียานยนต์

เมื่อเยอรมัน ต้องตามก้นญี่ปุ่น

ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ใช้รถเยอรมันอยู่ และเชียร์ให้หลายๆคนซื้อหายี่ห้อเดียวกันมาใช้ จะเรียกว่าค่อนข้างจงรักภักดี กับยี่ห้อที่ใช้อยู่ก็พอได้ ด้วยความภาคภูมิใจในชื่อเสียง รูปลักษณ์ ความมันในการขับขี่ แต่วันที่อ่านเจอรายงานข้างล่างนี้ ทำให้ต้องกลับมานั่งหาข้อมูลอีกยกใหญ่...

เวลาพูดถึงรถเยอรมัน ใครๆก็นึกถึงความคงทน คุณภาพ รูปลักษณ์สวยงาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนก็เข็ดขยาดกับรถเยอรมัน เพราะปัญหาเรื่องความจุกจิกในการดูแลรักษา ค่าซ่อมบำรุง

สถานการณ์ที่แท้จริงขณะนี้เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงานต่อไปนี้ได้...

การสำรวจในเยอรมัน โดยนิตยสาร auto motor und sport ซึ่งทำการสำรวจร่วมกับ ADAC กับกลุ่มตัวอย่าง 52,000 คน ให้ผลที่น่าสนใจ  ชนิดที่ผู้ผลิตเยอรมันรายใหญ่ทั้งหลายต้องสะดุ้ง เมื่อความเป็นจริงพบว่า อันดับ 1 - 7 ของรถที่น่าเชื่อถือ และน่าพึงพอใจ (reliable and satisfied) ในสายตาชาวเมืองเบียร์ เป็นรถยนต์จากญี่ปุ่นและเกาหลี !!!

โดยมีเมอร์เซเดส เบนซ์ ตามมาในอันดับที่ 8 ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มรถยุโรปทั้งหมด ปอร์เช่อยู่อันดับที่ 11  บีเอ็มดับบลิวอยู่อันดับที่ 13 และโฟล์คสวาเกน หล่นไปอยู่อันดับที่ 17  ส่วนออดี้กินอันดับที่ 21 และปิดขบวนเยอรมันด้วยโอเปิล ซึ่งรั้งท้ายในกลุ่มเยอรมัน ด้วยอันดับ 26
 
 
อันดับที่ 1   โตโยต้า
อันดับที่ 2   ซูซูกิ
อันดับที่ 3   ฮุนได
อันดับที่ 4   นิสสัน
อันดับที่ 5   มาสด้า
อันดับที่ 6   ฮอนด้า
อันดับที่ 7   มิตซูบิชิ
อันดับที่ 8   เมอร์เซเดส
อันดับที่ 9   เซียท
อันดับที่ 10  สโกด้า
อันดับที่ 11  ปอร์เช่
อันดับที่ 12  เรโนลต์
อันดับที่ 13  บีเอ็มดับบลิว
อันดับที่ 14  ไครสเลอร์
อันดับที่ 15  เปอโยต์
อันดับที่ 16  ฟอร์ด
อันดับที่ 17  โฟล์ค
อันดับที่ 18  จากัวร์
อันดับที่ 19  ซาบ
อันดับที่ 20  ซีตรอง
อันดับที่ 21  ออดี้
อันดับที่ 22  วอลโว่
อันดับที่ 23  เฟียต
อันดับที่ 24  โรเวอร์
อันดับที่ 25  แลนเซีย
อันดับที่ 26  โอเปิล
อันดับที่ 27  อัลฟ่า
ผู้บริหารหลายรายของเยอรมัน ออกมายอมรับกระแสการสำรวจดังกล่าว และระบุว่า ยังต้องมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนอีกต่อไปเรื่อยๆ

ผู้ดูแลการผลิตของปอร์เช่ Michael Macht ยอมรับว่า โตโยต้านั้น สร้างรถที่มีคุณภาพ และความน่าเชื่อถือ มาตลอด 50 ปี และผู้ผลิตในเยอรมัน คงยังต้องทำงานกันหนัก เพราะตำแหน่งดีที่สุด เพียงอันดับที่ 8 เท่านั้น

ผ่ายบีเอ็มดับบลิว Karlheinz Langer กล่าวว่า รถยนต์ที่ใช้งานได้ต่ำกว่า 100,000 กม. เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างรถยนต์ซึ่งไม่มีข้อบกพร่องเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน และขณะนี้ผู้ผลิตในเยอรมันทุกราย ก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพของรถยนต์กันมาก และเชื่อว่าขณะนี้ ก็อยู่ในระดับเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ จากญี่ปุ่น !!!

ส่วนผู้ดูแลการผลิตของโฟล์ค Martin Winterkorn บอกว่า เสียงร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ ออดี้ และโฟล์ค ลดลงถึงครึ่งหนึ่งแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ แม้ผู้สื่อข่าวจะเห็นว่า สิ่งที่ปรับปรุงไปสำหรับโฟล์ค ดูจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตาเป็นส่วนใหญ่ แต่ Winterkorn ยืนยันว่า โฟล์คให้ความสำคัญสำหรับ function มากกว่า appearance

แต่ในรายละเอียดการสำรวจพบว่า ทั้งออดี้ เอ6 ใหม่ และกอล์ฟ มาร์ค IV มีปัญหาให้แก้ไขอีกหลายจุด - ทิปโทรนิค ทำงานไม่ปกติ, เครื่อง วี 6 ทีดีไอ มีปัญหาในการสตาร์ท, เกียร์แมนน่วลของกอล์ฟ มีการติดขัดเป็นบางครั้ง และ ฯลฯ

Klaus Berger ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล Car Garantie ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่กว่า 800,000 คันอยู่ในมือ ระบุว่า สถิติความชำรุดทรุดโทรมของรถเยอรมันในช่วงหลัง ดูดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาเล็กน้อย แต่รถยนต์ญี่ปุ่นก็ยังเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด

มาดูความเห็นฝั่งญี่ปุ่นกันบ้าง  ผู้บริหารของนิสสัน Norio Matsumura พูดอย่างเจ็บแสบว่า ผู้ผลิตเยอรมัน ชอบเอาแต่พูดถึงคุณภาพ แต่ญี่ปุ่นสร้างมันขึ้นมาจริงๆ (German talks, Japanese provide it)

คราวหน้ามาดูกันในรายละเอียดว่า เกิดอะไรขึ้นในกระบวนการผลิต และทางยุโรปจะแก้ลำกันอย่างไร...