เทคโนโลยี ยานยนต์

ระบบป้องกัน อันตรายจาก Side Airbag

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีเอ็มได้สร้างกระแสการโต้แย้ง ในประเด็นเรื่องความปลอดภัย ในหมู่ผู้ผลิตรถยนต์ด้วยกัน ด้วยการเผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่ง  โดยได้แสดงให้ผู้สื่อข่าวเห็นภาพการทดสอบ การชนด้านข้างในรถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง ในรายงานดังกล่าว จีเอ็มใช้คำว่า เด็กถูก  blasted out of their seats เมื่อถุงลมพองตัวออก แสดงให้เห็นภาพระดับความรุนแรงเอาการทีเดียว

(คอลัมน์ คาร์ แอนด์ เมดิคอล ในเว้บไซต์นี้ ได้เคยนำเสนอประเด็นนี้ไปครั้งหนึ่ง ผู้ที่สนใจ สามารถ คลิกไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้)

สิ่งที่นำไปสู่การโต้เถียงคือ จีเอ็มระบุไว้ในรายงานว่า ถุงลมนิรภัยด้านข้างของรถที่ผลิตโดยจีเอ็ม จะบรรเทาความรุนแรงของปัญหานี้ลง นั่นเท่ากับเป็นการบอกกลายๆว่า รถยี่ห้ออื่นๆที่ติดตั้งถุงลมด้านข้างนี้ ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ เรื่องนี้ทำให้ เบนซ์ บีเอ็ม วอลโว่ และเล็กซัส ซึ่งมีการติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้างในรถของตน ดาหน้าออกมาตอบโต้อย่างพร้อมเพรียงกัน

อย่างไรก็ตาม วอลโว่ได้เปิดเผยว่า ทางวอลโว่ได้แจ้งออกมาหลายปีแล้วว่า เด็กที่เหมาะจะนั่งในรถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยด้านข้าง ต้องมีส่วนสูงอย่างต่ำ 47 นิ้ว หรือราว 120 เซนติเมตร ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานข้างต้นอีกเช่นกัน

ไม่ว่าปัญหาจะมีอยู่จริงหรือไม่ ขณะนี้ NEC AutomotiveElectronics ได้ทำการผลิต อุปกรณ์ป้องกันเหตุดังกล่าวออกมาแล้ว โดยทำการติดตั้ง ในอคูร่า อาร์แอล ทำให้เป็นรถยนต์รุ่นแรก ที่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย อันอาจจะเกิดจาก ถุงลมนิรภัยด้านข้าง ระบบดังกล่าว ใช้ชื่อว่า NEC SeatSentry(TM) ซึ่งจะตัดการทำงานของ ถุงลมนิรภัยด้านข้างทันที ถ้าเซ็นเซอร์ตรวจพบ ว่าเด็กนั่งอยู่ในตำแหน่ง ที่จะเกิดอันตรายจากการพองตัว ของถุงลมนิรภัยด้านข้างได้

ระบบนี้ทำงาน โดยมีเซ็นเซอร์ 7 ตัว คอยตรวจสอบขนาดของผู้โดยสาร และตำแหน่งของที่นั่ง - เซ็นเซอร์ 6 ตัว ถูกติดตั้งอยู่กับเบาะที่นั่ง เพื่อวัดความสูงของผู้โดยสาร ส่วนเซ็นเซอร์ตัวที่ 7 อยู่ที่ด้านข้างเบาะ เพื่อตรวจสอบว่า ขณะนั้น ศีรษะเด็ก พิงอยู่กับส่วนของเบาะ หรือแผงประตู ซึ่งอาจจะเกิดอันตราย จากการทำงานของถุงลมนิรภัยหรือไม่ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเซ็นเซอร์อีก 3 ตัว ตรวจสอบลักษณะการชนจากด้านข้าง เพื่อกำหนดความแรงของถุงลมนิรภัย ในกรณีที่ระบบตัดสินใจแล้วว่า ให้มีการทำงาน ของถุงลมนิรภัยด้านข้างได้

เป็นแนวทางแก้ปัญหา ที่ใกล้เคียงกับวิธีแก้ปัญหา ของถังลมนิรภัยด้านหน้า ซึ่งน่ายินดีว่าได้ออกมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว และน่าจะแพร่หลายต่อไปได้ในอนาคต...