เทคโนโลยี ยานยนต์

พื้นที่ส่วนนี้ จะรวบรวมเทคโนโลยี ทั้งเก่าทั้งใหม่ สลับกันไป มาให้ศึกษาและเรียนรู้ โลกของรถยนต์ที่น่าสนใจ  มาเรียนรู้ไปพร้อมๆกันนะครับ

ดิสโทรนิค  เรดาร์ตรวจการณ์ของเบนซ์

          นอกจากระบบช่วยการขับขี่ในเวลากลางคืน อย่างไนท์ วิชั่น ของจีเอ็มในเรื่องข้างต้นแล้ว  เบนซ์ ก็พัฒนาระบบช่วยการขับขี่ ออกมาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะกึ่งแอคทีฟเซฟตี้ สามารถตัดตอนมาควบคุมรถได้เอง เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤต  ระบบนี้เบนซ์เรียกว่า ระบบ"ดิสโทรนิค"

          ระบบนี้ ทำงานโดยอุปกรณ์ตรวจจับ ที่จะส่งสัญญาณไปด้านหน้ารถยนต์ตลอดเวลา ทำให้สามารถทำงานได้ ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน  การตรวจจับด้านหน้า จะกินระยะทางประมาณ 150 เมตร ซึ่งจะมีประโยชน์มาก ในเวลาที่ทัศนวิสัยไม่ดี เช่นฝนตกหนัก หรือมีหมอกลงจัด ถ้ารถยนต์ที่ติดตั้งระบบนี้อยู่ เข้าใกล้รถคันหน้ามากเกินไป ซึ่งการคำนวณจะขึ้นอยู่กับสภาพการขับขี่ ความเร็วที่ใช้ในการขับขี่  คอมพิวเตอร์จะเข้ามาควบคุมทันที

          ดิสโทรนิคจะเริ่มทำการลดความเร็ว  โดยการถอนคันเร่งโดยอัตโนมัติ  และถ้าจำเป็น ก็จะทำการเบรคโดยอัตโนมัติด้วยเช่นกัน  จนกว่าระยะห่างจากรถคันหน้า จะอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  ดิสโทรนิคก็จะทำการเร่งความเร็วขึ้นไปให้ โดยอัตโนมัติเหมือนกัน   ระยะห่างจากรถคันหน้า  จะถูกแสดงอยู่บนหน้าปัดให้ทราบได้   และถ้าหากว่าคันหน้าเบรคกะทันหันอย่างรุนแรง  ดิสโทรนิคก็ฉลาดพอ ที่จะเพิ่มแรงกดที่ระบบเบรค ให้หยุดทันก่อนจะจูบท้ายรถคันหน้า

          ระบบนี้จะทำงาน เมื่อคุณขับขี่ที่ความเร็ว 25 -100 ไมล์ต่อชั่วโมง และถูกตั้งโปรแกรมไว้ ไม่ให้เบรครุนแรงไปกว่า 2 เมตรต่อวินาที  หรือประมาณ 1 ใน 5 ของความสามารถในการเบรคสูงสุด ของรถคันนั้น ในกรณีที่คอมพิวเตอร์ทำการเบรค อย่างสุดความสามารถแล้ว ยังพบว่าอยู่ในระยะเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย คอมพิวเตอร์จะส่งเสียง และมีไฟเตือน ให้ผู้ขับขี่ทำการเบรค เรียกว่าแทบจะสอนให้ขับรถกันเลย

          การทดสอบการใช้งานบนออโต้บาห์น พบว่าระบบนี้ช่วยให้ผู้ขับขี่ผ่อนคลายลงได้มาก  มีการทดลองพบว่า อัตราการเต้นของหัวใจขณะขับขี่ ด้วยระบบดิสโทรนิคนี้ ลดลงกว่าขับรถปกติ แต่อย่างไรก็มีการเตือนว่า ผู้ขับขี่ไม่ควรประมาท และฝากความไว้วางใจไว้กับคอมพิวเตอร์ แต่เพียงอย่างเดียว  ผู้ขับขี่ยังต้องมีสมาธิอยู่กับถนนเบื้องหน้า ระบบดิสโทรนิค เป็นเพียงตัวเสริมความปลอดภัย แต่การแก้ไขในภาวะวิกฤต ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ขับขี่ เหมือนการขับแบบเดิมๆ

          ระบบนี้ จะติดตั้งในเบนซ์เอสคลาสใหม่ ที่กำลังจะออกวางตลาด เป็นรุ่นแรก  และถ้าได้รับความนิยม ก็อาจจะขยับขยายลงมาสู่รุ่นล่างๆ  ว่าแต่ ไม่รู้จะเหมาะสมกับสภาพการขับขี่ในบ้านเรา มากน้อยแค่ไหน?


ไนท์ วิชั่น ดวงตายามราตรี

การขับขี่ในเวลากลางคืน  คงสร้างความอึดอัดใจให้กับหลายๆคน  ทั้งผู้ขับขี่เอง และคนเดินถนน ในอเมริกาพบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ครึ่งหนึ่งเกิดในตอนกลางคืน  และถ้าดูสถิติการเสียชีวิตของคนเดินถนน จะพบว่า 2 ใน 3 ทีเดียวที่เกิด ในช่วงกลางคืนเช่นกัน  แม้ว่าปริมาณการจราจรทั้งหมดของตอนกลางคืน จะมีเพียง 1 ใน 4 ของช่วงกลางวัน

ไฟหน้ารถ เป็นอุปกรณ์หนึ่ง ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ ประเมินสภาพเส้นทางด้านหน้าได้  แต่ก็มีรัศมีการทำงานจำกัด โดยทั่วไปสำหรับความเร็ว ที่ใช้บนทางหลวง พบว่า  เมื่อมีวัตถุโผล่เข้ามาในรัศมีแสงไฟ คุณจะมีเวลาเหลือเพียง 3.5 วินาที ก่อนจะชนวัตถุนั้น

ขณะนี้ คาดิลแลค กำลังพัฒนา Night Vision ขึ้นมาช่วยผู้ขับขี่ในยามค่ำคืน  โดยคาดิลแลคคุยว่า ระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในเวลากลางคืนขึ้น ถึง 500 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ระบบไนท์ วิชั่นนี้ จะตรวจจับรังสีอินฟราเรด ที่แผ่ออกมาจากวัตถุ ที่แผ่ความร้อนได้  ซึ่งรวมทั้งคนและสัตว์ต่างๆ  โดยจะทำการติดตั้งในรถยนต์ คาดิลแลค รุ่นเดอวิลล์  ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป  เทคโนโลยีที่ใช้นี้  เป็นสิ่งที่มีใช้กันอยู่อย่างกว้างขวาง ในวงการทหาร  แฟนๆภาพยนตร์ประเภทบู๊ดุเดือดทั้งหลาย คงคุ้นเคยกันดี  แต่การนำมาใส่ในรถยนต์ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ด้วยปัญหาสำคัญคือเรื่องของสนนราคา ที่สูงเอาการ

Raytheon ซึ่งพัฒนา ไนท์ วิชั่น ร่วมกับคาดิลแลค จัดการประยุกต์  โดยใช้  barium strontium titanate ซึ่งมีราคาถูก มาแทนที่ gallium chips ซึ่งติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ช่วยการมองเห็น ของทหารในเวลากลางคืน ที่มีราคาแพงกว่ามาก และพัฒนาให้อุปกรณ์ต่างๆ มีขนาดเล็กลง จนสามารถบรรจุในรถยนต์นั่งธรรมดาได้

อุปกรณ์ตรวจจับ รังสีอินฟราเรด  จะติดตั้งอยู่ที่หน้ากระจังรถ  แล้วถ่ายทอดสัญญาณที่จับได้ มาแสดงผลด้วยระบบ HUD (Head up dispaly)  ขึ้นบนกระจกหน้ารถ ให้อยู่ต่ำกว่าแนวระดับสายตา ของผู้ขับขี่ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการมอง ภาพที่แสดงจะเป็นเงาภาพขาว-ดำ ซึ่งจะระบุรูปร่าง สิ่งที่อยู่ด้านหน้าไกลออกไปได้

คาดิลแลคหวังว่า ในอนาคต ระบบนี้ก็จะได้รับความนิยม เหมือน แอร์แบ็ก หรือ เอบีเอส ในปัจจุบัน  แต่ในระยะสั้น ยังต้องรอการพิสูจน์ก่อน และผู้ที่ต้องการพิสูจน์  ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มประมาณ 1500 - 2000 เหรียญ สำหรับค่าตัวของ ไนท์ วิชั่น นี้  นอกจากปัญหาเรื่องราคา  ความคุ้นเคยกับการใช้งาน ก็ยังรอการพิสูจน์อยู่เช่นกัน  จากการทดลองพบว่า หลายครั้งที่ผู้ขับขี่ จะถูกจอ HUD ดึงความสนใจไป และละสายตาจากการมองถนนเบื้องหน้า  ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้ แต่ผู้ผลิตพบว่า เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่ง ผู้ขับขี่จะคุ้นเคย  และไม่จ้องอยู่แต่ที่ HUD แต่จะใช้วิธีแว่บมอง  เหมือนการชำเลืองกระจกมองหลัง เป็นระยะๆ

และถ้ารำคาญภาพขาว-ดำ  ผู้ผลิตสัญญาว่า จะพัฒนาแบบภาพสีออกมา ในอนาคตด้วย...