ความเคลื่อนไหวในแวดวงรถยนต์

28/8/00
ความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญไปที่ Car&medical message board ครับ

อรุณร่ง ของเครื่องยนต์ดีเซล

บนท้องถนน La RAMBLA ของกรุงบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ยามเย็น คลาคล่ำไปด้วยรถยนต์ และผู้คน ทั้งคนสัญจร และชาวเมืองที่กำลังตั้งหน้าตั้งตากลับบ้าน สภาพการจราจรที่แน่นขนัด กันชนจ่อกันชน ไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่ๆหลายแห่งในโลกนี้  ส่วนหนึ่งของรถที่แทรกตัวอยู่ในท้องถนนก็คือ แท็กซี่สีดำ-เหลือง ที่ไม่ต้องใช้ความสังเกตมากนัก ก็ยังพอดูออกว่า ทุกคันใช้เครื่องยนต์ดีเซล

แต่ไม่ใช่เฉพาะแท็กซี่เท่านั้น เมื่อมองไปยังรถยนต์ส่วนบุคคลหลายๆคัน ก็จะพบว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเช่นกัน รถพวกนี้จะเป็นดีเซลที่มีเทคโนโลยีใหม่กว่า เกือบทุกคันจะพ่วงเทอร์โบมาด้วย  หลายคนให้ความเห็นว่า เทอร์โบดีเซล เป็นแนวโน้มล่าสุดของรถยนต์ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็คือในประเทศสเปน  เมื่อปีที่แล้ว (1999) กว่าครึ่งหนึ่งของรถยนต์นั่งที่ออกใหม่ เป็นเครื่องยนต์ดีเซล

แต่ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ไม่เพียงแต่ใน สเปน เท่านั้น ที่หันมาให้ความสนใจเครื่องยนต์ดีเซลกันอย่างมาก ในปี 1985 รถยนต์ 26 เปอร์เซ็นต์ที่จดทะเบียนใหม่ใน เบลเยี่ยม เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ในขณะที่ปี 1999 ดีเซลครองส่วนแบ่งในเบลเยี่ยมถึง 54 เปอร์เซ็นต์  ใน ออสเตรีย ก็คล้ายคลึงกัน  กว่าครึ่งหนึ่งของรถใหม่ปีที่แล้วเป็นดีเซล  ใน ฝรั่งเศส ตัวเลขอยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์  ใน โปรตุเกส  อิตาลี่  เยอรมัน  ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์  ดีเซลก็ครองส่วนแบ่งอยู่ 30 - 42 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์ "ดีเซล ฟีเวอร์" นี้ ยังระบาดอยู่เฉพาะในยุโรปตอนกลาง และตอนใต้เท่านั้น ในขณะที่ยุโรปซีกเหนือ  สัดส่วนของรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ดีเซล ยังอยู่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเจริญเติบโต ของรถยนต์นั่งดีเซลอย่างมาก คือราคาเชื้อเพลิง  ในประเทศสเปน  ดีเซล 1 ลิตร ราคา 0.56 ยูโร ในขณะที่น้ำมันไร้สารตะกั่ว มีราคา 0.67 ยูโรต่อลิตร,  ในเบลเยี่ยม ยิ่งเห็นชัดมากขึ้น ด้วยราคาดีเซลที่ 0.69 ยูโรต่อลิตร ในขณะที่เบนซินต้องจ่ายถึง 0.99 ยูโรต่อลิตร (ประมาณ 42 บาท !!!)  รถยนต์นั่งส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่พอควร เป็นรถยนต์ของบริษัท ซึ่งต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ดีเซลจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด  รวมไปถึงความเห็นที่ว่า เครื่องยนต์ดีเซล มีความทนทานกว่าเครื่องยนต์เบนซิน

ในกลุ่มประเทศ EU ทั้งหมดนั้น ราคาดีเซลจะต่ำกว่าเบนซิน ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในช่วง 0.57 - 0.73 ยูโรต่อลิตร  ในขณะที่น้ำมันออกเทน 95 อยู่ที่ 0.65 ถึง 0.96 ยูโร ต่อลิตร  มีเพียงอังกฤษเพียงประเทศเดียว ที่มีราคาเบนซิน เท่ากับดีเซล

กลไกสำคัญที่ทำให้ราคาเชื้อเพลิงทั้ง 2 แตกต่างกันคือ ภาษี เช่นเดียวกับในประเทศไทย  ซึ่งอยู่บนแนวคิดเดิมที่ว่า น้ำมันดีเซล เป็นเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์เป็นหลัก  ยกเว้นในอังกฤษที่เก็บภาษีเชื้อเพลิงทั้ง 2 ในอัตราเท่ากันคือ 713 ยูโร ต่อ 1,000 ลิตร ซึ่งเป็นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ EU ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราภาษีน้ำมันดีเซล อยู่ระหว่าง 253 - 403 ยูโร ต่อ 1,000 ลิตร  ประเทศที่มีภาษีต่ำที่สุดคือ สเปน กรีซ และ ลักเซมเบิร์ก  ซึ่งเป็นคำอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ กำลังเกิดขึ้นในกรุงบาร์เซโลน่า ได้เป็นอย่างดี

จากแนวโน้มที่เริ่มมีรถยนต์ส่วนบุคคล ใช้เครื่องยนต์ดีเซลออกมากันมากขึ้น ทำให้กลไกภาษีบิดเบือน  จนปัจจุบันนี้ แม้ในยุโรปก็ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องนี้ออกมา  โดยหลักการแล้ว ดีเซลก็ยังเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ใช้อยู่เป็นหลัก  ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะขึ้นภาษีดีเซล  หรือการจะแยกภาษีดีเซลสำหรับ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ส่วนบุคคล ก็คงเป็นเรื่องยุ่งยาก  ทางออกที่หลายประเทศใช้กันอยู่ในตอนนี้ก็คือ  จัดเก็บภาษีรถยนต์นั่งเครื่องยนต์ดีเซล ในอัตราที่สูงกว่ารถยนต์นั่งเครื่องยนต์เบนซิน เพื่อชดเชยส่วนต่างของภาษีน้ำมันที่เกิดขึ้น อย่างเช่นที่ประเทศ สวีเดน  ฟินแลนด์  และเบลเยี่ยม ใช้อยู่

แต่นอกจากปัจจัยเรื่องราคาเชื้อเพลิงแล้ว ยังมีอีกเหตุผลหนึ่ง ที่หลายคนฟังแล้วอาจจะไม่เชื่อ ซึ่งทำให้น้ำมันดีเซลมีแนวโน้มที่ดีในอนาคต  เมื่อข้อเท็จจริงชี้ว่า เครื่องยนต์ดีเซล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ???

ปรากฏการณ์โลกร้อน หรือ Greenhouse effect  ที่กำลังทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายอยู่ในขณะนี้นั้น ในปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจาก กาซคาร์บอนไดออกไซด์  ซึ่งเครื่องยนต์ดีเซล จะปลดปล่อยกาซนี้  น้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซิน ในราว 20-25 เปอร์เซ็นต์  และเมื่อข้อกำหนดของ EU ต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์ ผลิตรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยลงกว่าในปัจจุบัน  ดีเซลจึงเป็นทางเลือกของผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรป
แต่หลายท่านคงทราบดีว่า  ดีเซลไม่ได้ปลอดภัยสำหรับสิ่งแวดล้อมในทุกแง่มุม เครื่องยนต์ดีเซลมีชื่อเสียง ในการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10 ) และไนโตรเจน ออกไซด์  ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้เป็นภัยต่อมนุษย์  อย่างไรก็ตามผู้ผลิตส่วนใหญ่ สามารถสร้างอุปกรณ์ดักจับ  ซึ่งจะกรองฝุ่นละอองเหล่านี้ได้ถึง 97 - 98 เปอร์เซ็นต์แล้ว  ปัญหานี้จึงสามารถควบคุมได้  ในอนาคตอันใกล้นี้

ภาพลบประการสุดท้ายของเครื่องยนต์ดีเซลคือ ปัญหาเรื่องสมรรถนะ  ที่หลายคนคงยังมีภาพฝังใจถึงเครื่องยนต์เสียงดังสนั่น  การออกตัวที่อืดอาด  แต่นั่นเป็นอดีตไปแล้ว กับเครื่องยนต์ เทอร์โบดีเซล ในปัจจุบัน  อาจพูดได้ว่า แม้เครื่องยนต์ดีเซล จะยังไม่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเบนซิน  แต่ตอนนี้ก็ไม่ด้อยกว่ากันแล้ว

ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความสำเร็จของรถยนต์นั่งดีเซล คงขึ้นกับราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก  จากข้อเท็จจริงที่ว่า  รถยนต์นั่งเครื่องดีเซลไม่ประสบความสำเร็จเลย  ในพื้นที่ที่เชิ้อเพลิงมีราคาต่ำ  อย่างใน สหรัฐอเมริกา  หรือหลายประเทศในเอเชีย

แต่ถ้าราคาน้ำมันยังทะยานขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เป็นอยู่แบบนี้  นี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับผู้ผลิตรถยนต์นั่ง ที่จะแนะนำเทคโนโลยีใหม่นี้ แก่ผู้ใช้รถในประเทศไทย  ในขณะเดียวกัน  รัฐบาลก็คงต้องขยับตัวให้ทัน  เพื่อหามาตรการต่างๆ  เช่นมาตรการทางภาษี  มารองรับความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างรถยนต์นั่งเบนซิน และดีเซล  ที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วยครับ

ข้อมูลจาก :
   A day in Diesel Town  โดย Ewa Hedlund

related story :
   เปรียบเทียบ อี คลาส เบนซิน/ดีเซล
   ซีรี่ส์ 3 เบนซิน / ดีเซล
   คาตาไลติค คอนเวอร์เตอร์ สำหรับดีเซลยุคหน้า
   ลดกำมะถัน เพื่ออากาศบริสุทธิ์

ความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญไปที่ Car&medical message board ครับ