สัพเพเหระ
 
รวมเกร็ดต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้รถยนต์มาไว้ในหน้านี้  บางเรื่องอ่านเอาเพลิน  บางเรื่องเก็บเอาหลักการบางอย่างมาประยุกต์ใช้ได้  บางเรื่องอ่านแล้ว  อาจเสียวๆเวลาขับรถนะครับ ??
 
ความสำคัญของโครงสร้างรถยนต์ในการป้องกันผู้โดยสาร
 
เคยมีเพื่อนฝูงบางคนบอกว่า รถบางยี่ห้อที่ว่าแข็งแรงนักหนา ทำไมเห็นสภาพเวลาชนแล้ว ถึงได้ยู่ยี่อลิสามากมายนัก บางคันงี้ตะแกรงหน้ารถ ยุบเข้ามาเกินครึ่งฝากระโปรงเสียอีก

แต่พอพินิจพิเคราะห์ดูต่อ  เพื่อนก็ถึงบางอ้อว่าถึงด้านหน้าจะยุบมามาก  แต่ส่วนของห้องโดยสาร ยังพอเป็นรูปเป็นร่างอยู่ น่าจะคาดเดาเอาได้ว่า ผู้อยู่ในรถคงยังพอเอาตัวรอดมาได้ นี่คือผลของการออกแบบรถยนต์ ให้มีส่วนซับแรงกระแทกที่ด้านหน้า

เวลาที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุ  พอจะสรุปได้ง่ายๆว่าคนขับจะเจ็บตัวได้ด้วย 2 เรื่องหลักๆคือ  ตัวคนพุ่งไปหาเหล็ก  กับเหล็กพุ่งมาหาคน

เรื่องของตัวคนพุ่งไปหาเหล็ก  ก็เนื่องด้วยอิทธิพลของแรงเฉื่อยที่เกิดจากการหยุดของรถยนต์อย่างกระทันหัน (DECELERATION)  ทำให้คนที่อยู่ในรถยังพุ่งต่อไป  เกิดการบาดเจ็บขึ้นจากการกระแทกหรือการสะบัด  ซึ่งเคยพูดถึงไปหลายครั้ง  อุปกรณ์นิรภัยต่างๆในรถอาทิ  เข็มขัดนิรภัย  ถุงลมนิรภัย  หมอนพิงศีรษะ  นั้นก็ถุกออกแบบมาให้ลดหย่อนอันตรายที่เกิดจาก DECELERATION นี้

ทีนี้ในประเด็นที่สอง  แม้เราจะใส่อุปกรณ์ป้องกัน (PROPER RESTRAINT USE) ดีเพียงใด  แต่ถ้าตัวรถไม่แข็งแรงพอ  พาลจะพุ่งยุบเข้ามารวมกับเราเข้าให้  อาการหลังติดเบาะ  หน้าอกติดพวงมาลัยก็จะเกิดขึ้น  นอกจากนั้นยังมีส่วนของขาและเท้า  ส่วนของสะโพกและกระดูกเชิงกราน  รวมไปถึงศีรษะ ที่จะถูกกระแทกจากโครงสร้างตัวรถได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกชนจากด้านข้าง  นี่คือปัญหาที่เกิดจากเหล็กพุ่งมาหาคน

ได้มีการศึกษารวบรวมสถิติผู้บาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน โดยรวบรวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 121 คน  ในจำนวนนี้พบว่าใส่เข็มขัดนิรภัยแล้วก็ยังบาดเจ็บ 39 คน  แต่ที่เหลืออีก 82 คนนั้นไม่ได้ใส่เข็มขัดนิรภัย และเมื่อดูลึกในรายละเอียดต่อไปในเรื่องการบาดเจ็บของส่วนต่างๆของร่างกาย...

ทีนี้มาดูว่าแต่ละส่วนของรถยนต์เมื่อมากระแทกกับคนในรถ  จะทำให้เกิดการบาดเจ็บอย่างไรกันบ้าง ยังมีข้อมูลยิบย่อยจากงานวิจัยชิ้นนี้อีกมาก  แต่ผลสรุปที่ได้คือ แม้จะมีอุปกรณ์นิรภัยที่ดี (RESTRAINT DEVICE)  การออกแบบรถยนต์ ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง ให้แข็งแรงขึ้น  เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ จากโครงสร้างตัวรถเองที่ยุบเข้ามา (INTRUSION INJURY) ด้วย โดยเฉพาะส่วนของห้องโดยสาร ที่ไม่ควรมีการผิดรูปของโครงสร้างมาก จนเป็นอันตรายแก่ผู้โดยสาร

และสำหรับการป้องกันอันตราย จากการถูกชนจากด้านข้าง ซึ่งมีพื้นที่ระหว่างตัวรถ คือผิวบานประตูด้านนอก จนถึงตัวผู้โดยสารเพียงเล็กน้อย  จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญ ที่วิศวกรต้องออกแบบทั้งโครงสร้าง และอุปกรณ์นิรภัยเสริม ให้มีประสิทธิภาพและความฉับไวเพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ในรถปลอดภัย  คานเสริมประตู  ถุงลมนิรภัยด้านข้าง  รวมไปถึงถุงลมป้องกันศีรษะ  คงเป็นคำตอบส่วนหนึ่งจากผู้ผลิตรถยนต์ต่อปัญหานี้

แต่ไม่ว่าผู้สร้างรถยนต์จะทุ่มเทการพัฒนากันมากแค่ไหน  ถ้าเราผู้ใช้รถยนต์ใช้กันอย่างไม่ถูกต้อง  หรือไม่ยอมใช้  รถดีแค่ไหนก็มีสิทธิ์ไปสวรรค์ได้เหมือนๆกัน
 


คาร์บอนมอนอกไซด์  ในรถยนต์

คงเคยได้ยินข่าวคราว  ผู้ที่เสียชีวิตไปเฉยๆในรถยนต์ ที่จอดติดเครื่องทิ้งไว้  บางครั้งมีการสรุปว่าขาดอากาศหายใจ  บางครั้งมีความเห็นว่า ร้อนจนเสียชีวิต  แต่สาเหตุที่สำคัญจริงๆ คือ คาร์บอนมอนอกไซด์(CO)

ถ้าจะบอกว่า คาร์บอนมอนอกไซด์  เกี่ยวข้องกับการขาดอากาศ ก็อาจจะไม่ผิดแผกไปมากนัก  เพราะคุณสมบัติทางเคมีของมัน ทำให้ร่างกายเกิดการขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้

ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกาซตัวนี้กันก่อน  หลายคนยังเข้าใจว่า กลิ่นจากท่อไอเสีย เป็นกลิ่นของคาร์บอนมอนอกไซด์  ที่จริงแล้วสิ่งที่เราได้กลิ่นนั้น  ส่วนใหญ่จะเป็น ไฮโดรคาร์บอน  สำหรับคาร์บอนมอนอกไซด์นั้น เป็นกาซที่แสบมาก  เพราะไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น  ให้ตรวจจับได้ง่ายๆ

และเมื่อเราสูดดมเข้าไป  กาซตัวนี้ก็จะเข้าไปที่ปอด แล้วซึมแพร่สู่กระแสโลหิต โดยพื้นฐานแล้ว  เม็ดเลือดแดงจะเป็นตัวนำออกซิเจน ไปสู่เนื้อเยื่อทั่วร่างกาย  ทีนี้พอมีคาร์บอนมอนอกไซด์มาร่วมวงด้วย  เจ้ากาซตัวนี้มีความสามารถ ในการแย่งที่เม็ดเลือดแดง สูงกว่าออกซิเจนมาก  เพราะฉะนั้น ถ้าสูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป ก็จะทำให้เม็ดเลือดแดงมีแต่กาซตัวนี้ ไม่มีที่ให้ออกซิเจนอยู่  ร่างกายโดยเฉพาะสมอง ก็จะค่อยๆขาดออกซิเจน ทำให้หมดสติไป และถ้าทิ้งไว้นาน  ก็จะเสียชีวิตในที่สุด

คุณสมบัติที่ประหลาดอีกอย่างคือ  คนที่สูดดมคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป แม้ร่างกายจะขาดออกซิเจน แต่ตัวจะไม่เขียว แบบพวกถูกรัดคอจนขาดอากาศหายใจ ทำนองนั้น  แต่จะยิ่งดูแดงขึ้นไปอีก  เพราะคาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อทำปฏิกิริยากับสารที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง จะทำให้เม็ดเลือดแดง ดูแดงยิ่งขึ้น

ปกติกาซนี้ จะเป็นผลผลิตของการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ดังนั้น จึงมีแพร่ออกมาทั่วไป แต่ในสภาพอากาศเปิด มันก็จะเจือจางไปในที่สุด  แต่ถ้าจอดรถติดเครื่องไว้ โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศไม่ไหลเวียน ก็จะทำให้กาซตัวนี้ ซึมผ่านเข้ามาในรถยนต์ แล้วเราค่อยๆสูดดมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จนเคลิ้มหลับไปเพราะสมองขาดออกซิเจน ถ้าไม่มีใครมาเรียก ก็อาจจะเสียชีวิตในรถได้

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงสภาพการณ์ดังกล่าว  ไม่ควรติดเครื่องเปิดแอร์ แล้วหลับในรถ โดยเฉพาะในพื้นที่คับแคบ ระบายอากาศไม่สะดวก เช่นในที่จอดรถ  เพราะคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า ได้ค่อยๆสูดดม คาร์บอนมอนอกไซด์ เข้าไปทีละน้อยๆแล้ว...


เมื่อต้องเปิดไฟหน้า…ท้าแดด (พ.ย. 2540)

DRL เป็นชื่อย่อของอุปกรณ์นิรภัยชนิดหนึ่ง  ที่มีใช้ในประเทศทางยุโรปซีกเหนือ และขณะนี้กำลังขยับขยายไปทางด้านทวีปอเมริกา หน่วยงานที่วิจัยด้านความปลอดภัยในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า  นี่เป็นเครื่องมือช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุในท้องถนน ที่มีราคาถูกที่สุดชิ้นหนึ่ง  และอันที่จริงมีติดตั้งในรถยนต์ทุกๆคันอยู่แล้ว ???

DRL ย่อมาจาก DAYTIME RUNNING LIGHT  แปลตามตัวคงพอได้ความว่าเปิดไฟหน้ารถในตอนกลางวัน  ถ้ามาทำแบบนี้ในบ้านเรา  เพื่อนร่วมทางคงคิดว่าหมอนี่ซุ่มซ่ามลืมปิดไฟหน้า  ไม่งั้นก็อาจจะพยายามขอทางฉุกเฉินอะไรทำนองนั้น
ต้นกำเนิดของ DRL มาจากทางประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย  และทางคานาดาโดยใช้หลักการที่ว่า การเปิดไฟหน้ารถไว้ตลอดเวลา  จะทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทางสังเกตเห็นรถคันอื่นๆใกล้เคียงได้ง่ายขึ้น  รวมไปถึงผู้ที่เดินอยู่ข้างถนนด้วย

รายงานในวารสารด้านการแพทย์และอุบัติเหตุ ระบุถึงประโยชน์ที่ได้  จากการเปิดไฟหน้าเวลากลางวันไว้ในหลายประเทศ  ในนอร์เวย์พบว่าในช่วงปี 1980-1990 DRL ลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ 10 เปอร์เซนต์  ในเดนมาร์กพบว่าช่วยลดได้ 7 เปอร์เซนต์  ส่วนในคานาดาก็พบว่า ช่วยลดอัตราการชนกันในท้องถนนลงได้ 11 เปอร์เซนต์เช่นกัน

 ในหลายประเทศที่ว่ามาข้างต้นมีการบังคับใช้ DRL เป็นกฎหมายมากว่าสิบปี  ในขณะที่เจ้าพ่อเรื่องความปลอดภัยอย่างอเมริกายังลังเลอยู่  หน่วยงานหลักอย่าง NHTSA เพิ่งจะรับรอง DRL เมื่อปี 1993  และในปัจจุบัน กฎหมายของอเมริกาเปิดทางให้รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศนั้นติดตั้ง DRL ได้  แต่ยังไม่บังคับให้ทุกๆคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นนี้  ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา  มีการติดตั้ง DRL แล้วในรถ คาดิลแลค  จีโอ  ซาบ  ซูซูกิ  โฟล์คสวาเกน  และวอลโว่  ทุกรุ่นที่วางตลาด  และสำหรับรถยนต์ของ GENERAL MOTOR ทุกรุ่นตั้งแต่รุ่นปี 1997 เป็นต้นไป  จะมีการติดตั้ง DRL เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน

ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าประเทศที่มีการบังคับใช้ระบบนี้อย่างได้ผล  ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่มีสภาพอากาศขมุกขมัว   มีแสงสว่างน้อยกว่าประเทศอื่นๆ   จึงพอจะคาดเดากันได้ว่าการเปิดไฟหน้ารถในเวลากลางวันคงจะเทียบเคียง
กับการเปิดไฟหน้ารถช่วงเวลาโพล้เพล้ในบ้านเรา  ถ้าอย่างนั้นในประเทศที่แดดจ๋าอย่างอเมริกา โดยเฉพาะในเขตรัฐทางด้านใต้ จะได้ประโยชน์อะไรจาก DRL ?

ข้อมูลในเรื่องนี้ยังต้องรอดูผลจากการใช้งานจริง      แต่ทางอเมริกาได้อาศัยหลักฐานความสำเร็จของ DRL ในคานาดา  ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของแสงสว่างตลอดปีสูงกว่าในแถบสแกนดิเนเวีย  และเชื่อในหลักการที่ว่า DRL จะช่วยเพิ่มความแตกต่าง (CONTRAST) ระหว่างรถยนต์กับสิ่งแวดล้อม (BACKGROUND) ได้มากขึ้น  จึงได้มีการเปิดให้ใช้ DRL ได้

ถึงตอนนี้คงเห็นได้ว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้มีราคาถูกจริงๆ   เพราะไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมมากมาย  รถยนต์ของใครบ้างที่ไม่มีไฟหน้า อันที่จริงการทำงานของ DRL อาจจะต้องมีอุปกรณ์อิเลคโทรนิคมาพ่วงต่อเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย  ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบของ DRL ซึ่งโดยทั่วไปจะมี 2 แบบใหญ่ๆคือ  แบบที่ใช้หลอดไฟสูง โดยลดความเข้มลงจากการใช้งานเวลากลางคืน  และแบบที่ใช้หลอดไฟต่ำในขนาดความเข้มปกติหรือลดลงเล็กน้อย  แล้วแต่ผู้ผลิตจะเลือกใช้แบบใด  ในปัจจุบันทาง GENERAL MOTOR ได้ผลิตอุปกรณ์เสริม (RETROFIT DRL KIT)  ขึ้นมาจำหน่าย      สำหรับติดตั้งในรถยนต์รุ่นเก่าๆที่ไม่ได้ติดตั้ง DRL มาจากโรงงาน

ข้อเสียที่เห็นกันชัดๆ คือ  อายุการใช้งานของหลอดและโคมไฟจะสั้นลง
และต้องเปลืองน้ำมันขึ้นเนื่องจากรถยนต์ต้องใช้กระแสไฟฟ้ามากขึ้น…?  เรื่องนี้มีการศึกษามารองรับเรียบร้อย NHTSA ประมาณการว่าความสิ้นเปลืองจะเพิ่มขึ้นน้อยมาก  ข้อมูลการวิจัยของ  GENERAL MOTOR ระบุว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อปีจากทั้ง 2 กรณีที่กล่าวมาจะอยู่ในราว 3 เหรียญสหรัฐ หรือไม่ถึง 100 บาทต่อปี

อีกเรื่องหนึ่งที่มีผู้สงสัยคือ DRL จะทำให้ผู้ที่ขับรถสวนมาจะถูกรบกวนจากแสงสะท้อนหรือไม่  เรื่องนี้ NHTSA ไม่พลาดที่จะทดสอบและพบว่าความสว่างของ DRL ที่กำหนดไว้ ณ ระดับ 7000 แคนเดลลา  มีค่าเพียง 1 ใน 8 เท่าของระดับแสงที่จะรบกวนสายตาได้ในเวลากลางวัน

อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าใครรู้สึกว่า DRL ดูมีราศีพอได้  เกิดอยากจะใช้อย่างฝรั่งเขาบ้างล่ะก็  ไม่ขอรับประกันนะครับ  เท่าที่สอบถามผู้รู้งูๆปลาๆ  ทราบว่า พรบ.จราจรทางบกระบุไว้เพียงว่าต้องเปิดไฟหน้าเมื่อเริ่มมองข้างหน้าไม่ชัดเจน  ไม่มีบอกว่าถ้าใครดันเปิดไฟหน้าเวลากลางวันแล้วจะมีความผิดหรือไม่  แต่เพราะกฎหมายตัวนี้  มีกฎกระทรวงตามมาอีกยุ่บยั่บ  ผู้รู้ท่านนี้จึงไม่กล้ายืนยัน

 

 

ขับรถนานๆ…อาจเป็นหมัน ??(ส.ค.2540)

เรื่องนี้เป็นรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมานี่เอง  เป็นผลการศึกษาที่แย้มๆออกมาว่า การขับรถมากๆอาจจะทำให้คุณผู้ชายเกิดอาการกระสุนด้านขึ้นมาได้
 
การศึกษาชิ้นนี้ทำในอิตาลี  โดยผู้ทำการวิจัยต้องการจะเรียนรู้ถึงความสัมพันธ์  ระหว่างการขับรถนานๆ  ในผู้ที่ขับรถขับรากันเป็นอาชีพว่ามีผลกระทบกับ ระบบการสืบพันธุ์กันบ้างหรือไม่อย่างไร  ผู้เสียสละต่อการทำวิจัยครั้งนี้คือผู้ขับแทกซี่ในกรุงโรมจำนวน 201 คน  ศึกษาเปรียบเทียบกับชายฉกรรจ์ที่ไม่ได้ขับรถนานๆอีก 50 คน  โดยเก็บประวัติการทำงาน  การมีบุตร แล้วยังต้องนำน้ำอสุจิมาทดสอบเปรียบเทียบกันดูด้วย

โดยพื้นฐานการกำเนิดชีวิต  ต้องมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นโดยเป็นการทำงานของอสุจิในผู้ชายร่วมกับไข่ในผู้หญิง    หลังจากผ่านกระบวนการที่ไม่อาจบรรยายในที่นี้ได้  จนเชื้ออสุจิเข้าไปอยู่ในช่องคลอด  ก็จะแหวกว่ายเข้าไปในโพรงมดลูกแล้วผ่านไปที่ท่อรังไข่เพื่อให้ได้พบปะกับไข่ที่รออยู่   จากนั้นส่วนหัวของเชื้ออสุจิจากพ่อก็จะฝังตัวเข้าไปในฟองไข่ของแม่    แล้วกระบวนการที่สลับซับซ้อน ซึ่งเริ่มจากเซลล์แค่ 2 เซลล์แล้วเจริญเติบโตเป็นทารกน้อยๆหนึ่งคน ก็จะอุบัติขึ้นภายในมดลูกหรือในครรภ์ของแม่นั่นเอง

เพราะฉะนั้นถ้ามีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด  ไม่ว่าไข่หรือเชื้ออสุจิมีความผิดปกติ  กระบวนการดังกล่าวก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
เข้าทำนองตบมือข้างเดียวมันจะดังได้อย่างไร

โดยปกติแล้วในน้ำอสุจิที่ผลิตออกมาครั้งหนึ่งๆจะมีเชื้อแหวกว่ายอยู่เป็นจำนวนมาก  แต่จะมีเชื้ออสุจิที่มีสภาพสมบูรณ์อยู่เพียงจำนวนหนึ่ง ปะปนกับตัวที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ซึ่งพวกนี้จะไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถ
จะต่อสู้ตัวอื่นๆไปผสมกับไข่ได้

รายงานดังกล่าวบอกว่า  ในการสำรวจตรวจสอบตัวอย่างน้ำอสุจิทั้งสิ้น 72 ตัวอย่างจากโชเฟอร์แทกซี่  พบว่า มีสเปิร์มหรือเชื้ออสุจิที่รูปร่างปกติสมบูรณ์ดี ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ใช่คนขับแทกซี่อย่างชัดเจน   ( 45.8 %  ต่อ  64.0 % )  โดยเฉพาะในผู้ที่ขับนานๆ  และสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ  ถ้าเจ้าไหนมีการสูบบุหรี่ร่วมด้วยแล้ว  ยิ่งพบความพิกลพิการของเชื้ออสุจิมากขึ้นไปอีก …สิงห์อมควันควรระวัง

คณะวิจัยจึงทุบโต๊ะสรุปว่าการขับขี่รถยนต์ในเมืองที่แออัดเป็นเวลานานๆ  โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพต้องขับรถยนต์  จะทำให้คุณภาพของเชื้ออสุจิแย่ลง  โดยเฉพาะในด้านรูปร่างของเชื้ออสุจิ  และถ้าเชื้ออสุจิไม่สมบูรณ์  หัวกุดหางกุดแล้วไซร้  โอกาสที่จะแข่งขันกันว่ายไปผสมกับไข่ภายในมดลูกหรือที่ท่อนำไข่ของฝ่ายหญิงก็ยิ่งลดน้อยลง  ทำให้โอกาสตั้งครรภ์ย่อมลดลงตามไปด้วย

ยังไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรเป็นชนวนของการปรากฏการณ์ที่น่าขนลุกชิ้นนี้
ผู้วิจัยกล่าวว่ารายละเอียดที่เหลือคงต้องรอการศึกษามากขึ้นไปกว่านี้อีก
 
บังเอิญที่มีคณะวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งในยุโรปเช่นกัน  มีการศึกษาและตีพิมพ์รายงานออกมาไล่เลี่ยกัน  โดยคณะนี้พบว่า กลุ่มผู้ที่ทำงานในสภาวะที่ต้องได้รับแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสจะสร้างเชื้ออสุจิที่ผิดปกติ
หนึ่งในกลุ่มอุปกรณ์ที่มีความสั่นสะเทือนก็คือ  รถยนต์นี่เอง

ถ้ายังพอจำกันได้ จากที่เคยกล่าวถึงสาเหตุของอาการปวดหลังขณะขับรถยนต์  ก็เพราะแรงสั่นสะเทือนเช่นกัน  เนื่องจากรถยนต์จะมีแรงสั่นสะเทือนน้อยๆเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาขณะติดเครื่องยนต์
ผลจากการศึกษาชิ้นนี้ระบุว่าเมื่อทำการตรวจสอบน้ำอสุจิของกลุ่มคนที่ว่านี้  พบความจริงว่ามีโอกาสที่จะมีจำนวนเชื้ออสุจิในน้ำอสุจิน้อยกว่าปกติ (OLIGOSPERMIA)  หรือที่ร้ายไปกว่าก็คืออาจจะไม่มีเชื้ออสุจิอยู่เลย (AZOOSPERMIA)   นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้  จะมีปริมาณของน้ำอสุจิลดลง  รวมไปถึงความสามารถในการแหวกว่ายของเชื้ออสุจิก็มีแนวโน้มถดถอยลงไปด้วย  และพบว่ามีเชื้ออสุจิที่พิกลพิการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไปสอดคล้องกับรายงานแรกที่กล่าวถึงตอนต้นแล้ว
เท่ากับว่านอกจากจะสร้างเชื้อที่หน้าตาไม่เข้าท่าออกมามากแล้ว  ตัวที่พอจะไปวัดไปวาได้ก็ดันฝีมือแย่กว่าชาวบ้านเสียอีก

อ่านดูแล้วก็หนักใจนะครับ  ถึงแม้ตอนนี้รายงานทั้งสองยังเพิ่งเริ่มต้น  ไม่สามารถ
สรุปออกมาได้เต็มร้อย  แต่ถ้าเมื่อไรมีคนยืนยันออกมามากๆ  พวกเราคงลำบาก

ก็วันนึงๆ  เราใช้เวลาติดอยู่ในรถน้อยกว่าคนขับแทกซี่ไม่เท่าไหร่เองนี่ครับ
 



 
ขับไปโทรไป...เสี่ยงภัยอีก 4 เท่า (มี.ค.2540)
 
เมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2540 มีรายงานการวิจัยชิ้นหนึ่ง ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ได้แก่วารสาร New England Journal of Medicine  หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ไปเตะตาต้องใจสำนักข่าวนานาชาติ  จนถึงกับตีโทรพิมพ์กระจายข่าวส่งออกไปทั่วโลก

รายงานชิ้นนี้ได้รับการอ้างว่า  เป็นรายงานทางการแพทย์ชิ้นแรก ที่ระบุถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถยนต์  กับการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันขึ้นในท้องถนน...

ด้วยการคาดคะเนกันเอง  หลายๆคนก็น่าจะพอพูดได้ว่าการขับไป โทรไป  ก็คงจะทำให้เสียสมาธิในการบังคับรถยนต์ไปบ้าง  แต่การคิดหรือกล่าวอ้างลอยๆ คงไม่สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาออกกฎเกณฑ์ควบคุมใดๆได้ ดีไม่ดีโดนฟ้องร้องกลับจะยุ่งกันไปหมด รายงานชิ้นนี้จึงทำการรวบรวมข้อมูล  และวิเคราะห์ทางสถิติอย่างถี่ถ้วน  ก่อนจะระบุว่า  การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะที่กำลังขับรถอยู่นั้น  จะมี "อัตราเสี่ยงต่อการเฉี่ยวชน"เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า  (3.0 - 6.5 เท่า ในช่วงสิบนาทีนับจากที่เริ่มใช้โทรศัพท์)  เมื่อเทียบกับขณะที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ เปรียบเทียบง่ายๆจะมีค่า เท่ากับการขับขี่รถยนต์ในขณะที่ดื่มสุรามา จนมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกินระดับ
ที่กฎหมายกำหนดทีเดียว!!!

ในปัจจุบันนี้ หลายประเทศที่นักกฎหมาย กำลังหาหลักฐานในลักษณะนี้ เพื่อมาสนับสนุนการควบคุมการใช้โทรศัพท์ในขณะที่ขับขี่รถยนต์อยู่
ทั้งนี้ไม่รวมถึงว่า มีบางประเทศแล้วที่ห้ามการใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ  ได้แก่  บราซิล  อิสราเอล  สวิตเซอร์แลนด์  และบางรัฐในออสเตรเลีย  โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองในห้องแลปแล้วว่า  ขณะที่ใช้โทรฯมือถืออยู่  จะทำให้ความเร็วของปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการขับรถยนต์ลดลงได้ถึง 0.5 วินาที  บางทีตัวเลขนี้อาจจะดูน้อยมาก  แต่ถ้าพิจารณาว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มีเวลาเลี่ยงกันได้เพียงเสี้ยววินาที  ตัวเลขเล็กน้อยนี้อาจหมายถึงชีวิตกันเลยทีเดียว

การทดลองในห้องปฏิบัติการนั้นเปรียบเทียบว่า  การพูดคุยโทรศัพท์ ไม่ได้ดึงดูดสมาธิในการควบคุมรถยนต์มากไปกว่าการเอื้อมมือไปปรับวิทยุในรถ  แต่สิ่งที่ต่างกันคือประสิทธิภาพในการควบคุมพวงมาลัยซึ่งจะสูญเสียไปอย่างมาก  (เป็นอีกเหตุผลที่มีคนพยายามรวมการควบคุมวิทยุ  และการควบคุมโทรศัพท์มือถือไว้ที่พวงมาลัย)

สำหรับในรายงานการวิจัยชิ้นนี้  เป็นการรวบรวมข้อมูลของผู้ขับขี่ 699 คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในรถ  และเกิดอุบัติเหตุขึ้นในเมืองโตรอนโต ประเทศคานาดา แล้วจัดการไปตรวจสอบบิลที่บันทึกรายการโทรศัพท์ของแต่ละคนไว้  เอามาชำแหละแจกแจงดูกันถี่ยิบ  เปรียบเทียบเวลาที่โทรกับเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ  ก่อนจะได้ผลสรุปทางสถิติดังกล่าวออกมา

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่สองสามประเด็นจากงานวิจัยชิ้นนี้

อันที่จริงในบ้านเรา  ก็เคยมีข่าวคราวทำนองนี้มาแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในกรุงเทพนี่เอง หลายท่านคงพอจะจำกันได้  อันที่จริงในสภาพรถติดขัดมากๆ ใช้ความเร็วต่ำขนาดเต่ายังสบประมาทได้นั้น ความเสียหายอาจเป็นเพียงรอยบุบรอยถลอกเล็กๆน้อยๆ  แต่ในบริเวณที่ใช้ความเร็วสูงได้เช่นบนทางด่วน ความเสียหายอาจจะรุนแรงถึงชีวิต  อย่างไรก็ตามสภาพการจราจรก็บังคับให้อาจจะจำเป็นต้องโทรไปคุยไป  แม้แต่ตัวผมเองก็ยังมีพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้เหมือนกัน
แต่หลังจากได้อ่านงานวิจัยชิ้นนี้  จะต้องพยายามเตือนตัวเองไว้แล้วครับ  ยังไงถ้าต้องโทรคงต้องแอบเข้าข้างทางก่อน

อัตราเสี่ยง 4 เท่านี่ น้อยซะทีไหนล่ะครับ!