บทที่ 6  รถยนต์กับสิ่งแวดล้อม

6.3 ได้เวลารถยนต์ ไร้มลภาวะ

เมื่อปัญหาเรื่องมลภาวะ เป็นปัจจัยสำคัญในการบั่นทอนสุขภาพมนุษย์ให้ลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งรถยนต์ก็เป็นต้นเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในการปลดปล่อยไอเสียออกมาสู่สภาพแวดล้อมภายนอก  จึงจำเป็นต้องมีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

CLEAN AIR ACT เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ในอเมริกา และมีประสิทธิภาพในการควบคุมมลภาวะทางอากาศ ในเมืองลุงแซมอย่างฉมัง มีการใช้กฏหมายนี้มาเกือบ 30 ปีก่อน โดยได้คำนึงถึงสภาวะและปริมาณของก๊าซโอโซน (O3) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NO) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)  สารตะกั่ว (Pb) และฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ เป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณา จัดการกับอากาศที่ไม่บริสุทธิ์

จำเลยทั้ง 5-6 ตัวนี้ แม้จะมีแหล่งที่มาได้หลายๆ แห่ง แต่เกือบทั้งหมดนี้ก็เป็นผลิตผล จากควันไอเสียของรถยนต์ด้วยเช่นกัน ที่ล้วนแต่มีเรื่องเสียเงินให้มนุษย์ เพราะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ทั้งสิ้น
ตั้งแต่โรคของทางเดินหายใจ ไปจนถึงการทำงานของสมองนั่นทีเดียว

ที่มาของ LEV

สำหรับข้อกำหนดที่มีผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์อย่างแรง ได้แก่กฎที่ออกโดยมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยหน่วยงานชื่อ CALIFORNIA AIR RESOURCES BOARD (CARB) เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งหน่วยงานชื่อเหมือนคาร์บูเรเตอร์นี้  เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์หลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวฉีดเชื้อเพลิง เครื่องบำบัดไอเสีย CATALYTIC CONVERTER รวมไปถึง กล่องอีซียูที่เราและท่านๆ รู้จักกันดี

เนื้อหาของกฎเกณฑ์ที่ CARB ระบุไว้เพื่อคุ้มครองปอด และอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ เป็นที่มาของยานยนต์มลพิษต่ำ LEV (LOW-EMISSION VEHICLE) และ ZEV (ZEROEMISSION
VEHICLE)  ZEV นั้นเห็นกันชัดๆ ได้แก่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า โดยไม่ต้องมีไอเสียจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ที่เริ่มจะมีออกมาขายบ้างแล้วแต่ราคายังสูงลิ่ว ซึ่งคงต้องใช้เวลา ในการปรับราคาในท้องตลาด ตามหลักการดีมานต์-ซัพพลายอีกระยะหนึ่ง ส่วน LEV นั้น เป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ที่ได้พลังงานจากการสันดาปเชื้อเพลิง แบบเดียวกับที่เราขับขี่กันอยู่นี่เอง เพียงแต่ว่าต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อให้ได้ควันไอเสียที่ปล่อยออกมา ได้มาตรฐานตรงที่ CARB ระบุไว้ โดยต้องมีไฮโดรคาร์บอนไม่เกิน 0.075 กรัมต่อการวิ่ง 1 ไมล์ (รถยนต์เก่าๆ บางคันในปัจจุบัน ปลดปล่อยไฮโดรคาร์บอนออกมาถึง 15 กรัมต่อการแล่น 1.6 กิโลเมตร) และต้องคงสภาพไอเสียตามนี้ไว้อย่างน้อย 100,000 ไมล์ หรือ 160,000 กิโลเมตร
 
ต้องเป็น LEV เมื่อถึงปี 2000

เพื่อให้ข้อบังคับนี้ มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อาศัยว่าอเมริกาเป็นตลาดรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกนี้ จึงพ่วงเงื่อนไขที่สำคัญคือ รถยนต์ไม่ว่ายี่ห้อใด ที่จะขายในแคลิฟอร์เนียได้ ต้องมีสัดส่วนของ LEV เป็นจำนวน 25% ของยอดจำหน่ายตั้งแต่ปี 1997  และในปี 1998 สัดส่วนนี้เพิ่มเป็น 48% พอถึงปี 2000 ปริมาณรถยนต์ที่จะขายในแคลิฟอร์เนียได้ ต้องเป็น LEV 96% ของยอดขายทั้งหมด  สำหรับ ZEV นั้น ก็ต้องมีสัดส่วนโชว์ในยอดการจำหน่ายตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นไป

ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ บริษัทรถยนต์ทั้งหลายจึงต้องตาลีตาเหลือก พัฒนาเครื่องยนต์ที่สามารถผ่านข้อกำหนดของ CARB ออกมาได้ และในปัจจุบัน รถยนต์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นเครื่องยนต์ที่จัดอยู่ในกลุ่ม LEV เรียบร้อยแล้ว  ข้อมูลจากนิตยสารคาร์แอนด์ไดรเวอร์เมื่อปี 1994 ให้เครดิตว่า  บริษัทฮอนด้าเป็นผู้ผลิตรายแรก  ที่ผลิตรถยนต์ที่เข้ามาตรฐาน LEV โดย LEV คันแรกที่ออกจำหน่ายในอเมริกาคือ ฮอนด้าซีวิค 3 ประตู

สถานการณ์ในประเทศไทย ปัจจุบันและอนาคต

ย้อนกลับมาดูในบ้านเรา ขณะนี้ปัญหาสำคัญในเมืองหลวง จะหนักไปในด้านของฝุ่นละออง ที่มีเชื้อโรคอาศัยท่องเที่ยวไปด้วย แต่สารเคมีที่ปลดปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย ก็ยังทำร้ายร่างกายพวกเราได้อยู่เช่นกัน แม้จะมีเครื่องกรองไอเสียติดตั้งมาในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ หลายปีแล้ว แต่ถ้าเทียบสัดส่วนกันแล้ว
ยังไม่สูงนักเมื่อเทียบกับรถยนต์รุ่นเก่าที่ไม่ติดแคต

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีการนำเครื่องยนต์ที่เข้าเกณฑ์ LEV เข้ามาจำหน่ายกันหลายๆยี่ห้อแล้ว  และจากการที่ผู้ผลิตรายใหญ่ทุกราย มีรถยนต์ LEV จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา  ดังนั้นคงอีกไม่นานที่จะได้เห็น LEV ออกมาครบทุกยี่ห้อ

การเพิ่มจำนวนของรถยนต์ที่ผลิตควันอันใสสะอาดออกมาเรื่อยๆ ร่วมกับการหดหายไปของรถยนต์เก่าๆ ก็คงช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศที่เราสูดดมกันให้สดชื่นรัญจวนปอดได้มากกว่านี้