บทที่ 4  ถุงลมนิรภัย

4.4 แนวทางใหม่ของแอร์แบ็ก

เพื่อขจัดอันตรายจากถุงลมนิรภัย  ที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้  จึงมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาถาวรขึ้น  โดยแนวทางนี้ร่างขึ้นสำหรับใช้ในสหรัฐอเมริกา  ซึ่งคงจะนำมาใช้ได้ในตลาดอื่นๆด้วย  เพราะรถยนต์ในตลาดโลก ส่วนใหญ่มักจะออกแบบให้ผ่านมาตรฐานของอเมริกาที่เป็นตลาดยักษ์ใหญ่

อย่างที่เกริ่นถึง FMVSS 208 ไว้ว่า  ในเบื้องต้นได้กำหนดจุดประสงค์ของถุงลมนิรภัยคือ เป็นอุปกรณ์ปกป้องผู้ขับขี่ที่ ไม่ใส่เข็มขัดนิรภัย ต้องเน้นตรงนี้อีกทีครับ เพื่อจะได้เข้าใจผลที่จะพูดถึงตามมา การถูกตั้งเงื่อนไขเบื้องต้นดังกล่าว  ทำให้แนวทางการพัฒนาต้องให้มีความแรงในการพองตัวพอสมควร เพื่อจะออกมายันลำตัวผู้ขับขี่ได้ทัน  ก่อนที่จะพุ่งไปด้านหน้าจากความเฉื่อยที่เกิดขึ้นจากการชน  แต่ผลในการใช้งานจริงกลับกลายเป็นว่า ความรุนแรงดังกล่าวมากเสียจน ไปก่อผลข้างเคียงกับผู้ที่ใส่เข็มขัดนิรภัยเข้าด้วย และพลอยลุกลามไปถึงเด็กเล็กๆที่นั่งด้านหน้า สถานการณ์ปัจจุบันคือ ผู้ที่ไม่ใส่เข็มขัดนิรภัยจะมีอัตราเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากถุงลมนิรภัย แทนที่จะได้รับการป้องกันจากถุงลมนิรภัย  จึงแนะนำกันว่าผู้ขับขี่รถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัย ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ

เส้นทางสู่ Smart airbag

การวิเคราะห์ของ NHTSA ชี้ว่า ผู้โดยสารที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการใส่เข็มขัดนิรภัย  หรือใช้เก้าอี้นิรภัยให้ถูกต้องสมควรแก่วัยของเด็ก  ในขณะที่ฝั่งผู้ขับขี่ผู้ที่เสี่ยงมากคือผู้สูงอายุ และผู้ที่มีรูปร่างเตี้ย  สถิติที่รวบรวมได้แสดงว่า  ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตมีส่วนสูงน้อยกว่า 5 ฟุต 2 นิ้ว (155 ซม) ข้อสันนิษฐานคือคนกลุ่มนี้นั่งใกล้พวงมาลัยมากเกินไป   และรถยนต์รุ่นใหม่ๆขณะนี้  ก็สามารถปรับระยะแป้นเหยียบให้ใกล้ตัวมากขึ้นได้  สำหรับให้คนรูปร่างค่อนข้างสั้นได้นั่งห่างพวงมาลัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบการชนพบว่า    ในผู้ที่ตัวเตี้ยซึ่งต้องนั่งชิดพวงมาลัยอย่างนั้น  ถ้าไม่มีแอร์แบ็กมาช่วยยันไว้  ก็คงจะกระแทกเข้ากับพวงมาลัยอย่างแรงจนได้รับบาดเจ็บเช่นกัน

ต้องย้ำกันก่อนว่ามีคนจำนวนมากที่รอดมาได้เพราะแอร์แบ็ก  แต่ทำอย่างไรอุปกรณ์ชิ้นนี้จะไม่ต้องพรากชีวิตคนกลุ่มน้อยๆกลุ่มหนึ่ง ไปแลกกับการรักษาชีวิตคนกลุ่มใหญ่ จึงต้องมีมาตรการแก้ไข  ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ Smart Airbag  ซึ่งมีเส้นตายอยู่ที่กลางปี 2001 Smart Airbag  เป็นถุงลมนิรภัยที่จะทำงาน  ร่วมกับเซ็นเซอร์ต่างๆมากมาย ตั้งแต่เซ็นเซอร์วัดระดับความรุนแรงจากการชน  ที่ฉลาดกว่าในปัจจุบัน  เซ็นเซอร์ที่ตรวจสอบขนาดผู้ขับขี่และผู้โดยสาร  เซ็นเซอร์ตรวจสอบระยะห่างของที่นั่ง กับถุงลมนิรภัย    เซ็นเซอร์ตรวจสอบการคาดเข็มขัดนิรภัย  ข้อมูลต่างๆที่ได้มา  จะไปประมวลผล  เพื่อตัดสินความรุนแรงของการพองตัวของถุงลมนิรภัย  ในระดับที่มีประสิทธิภาพสูงสุด  และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่และผู้โดยสาร

ก่อนจะถึง Smart Airbag

ช่องว่างที่เหลืออยู่อีกหลายปี ก่อนที่ smart Airbag จะถูกติดตั้งในรถยนต์ทุกคัน จึงต้องลดความเสี่ยงของผู้ใช้รถยนต์ลงมาบ้าง ด้วยมาตรการหลายอย่าง

มาตรการแรกคือ การเลือกตัดการทำงานของถุงลมนิรภัย (Deactivating) สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการให้ถุงลมนิรภัยทำงาน เช่นในกรณีที่ต้องพาเด็กเล็กนั่งด้านหน้าด้วย  และเมื่อเสร็จภารกิจก็สามารถ Reactivate ได้ใหม่  ถึงขณะนี้มีการติดตั้งสวิทช์ตัดการทำงานมาในรถยนต์หลายรุ่น แม้จะยังมีข้อโต้แย้งกันบ้างก็ตาม

อีกมาตรการคือ ลดความรุนแรงของการพองตัวลง เรียกว่า Airbag Depowering โดยจะลดความแรงในการพองตัวลง 20 - 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัจจุบัน รถยนต์ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ได้ติดตั้ง Depowered Airbag เป็นมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว

ออปชั่นสุดท้ายคือแอร์แบ็กที่มีการทำงานแบบ Dual level inflator คือสามารถอ่านข้อมูลได้ว่า ถ้าชนที่ความเร็วต่ำมันก็จะระเบิดเบาๆ  แต่ถ้ารถคันนั้นอัดมาเต็มๆและคนขับไม่คาดเข็มขัดนิรภัย  มันก็จะพองด้วยความรุนแรงเต็มที่ แม้จะยังไม่เก่งเท่า สมาร์ท แอร์แบ็ก  แต่ก็ถือว่าพัฒนาไปอีกขั้น  ซึ่งขณะนี้ถุงลมนิรภัย ที่ติดตั้งในรถยนต์ที่จำหน่ายในต่างประเทศส่วนใหญ่ จะเป็นระบบนี้เช่นกัน

ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ รถยนต์หลายรุ่นได้ติดตั้งถุงลมนิรภัย ที่มีเทคโนโลยีใกล้เคียงกับ smart airbag แล้ว แม้ขณะนี้อุปกรณ์เหล่านี้จะยังมาไม่ถึงเมืองไทย แต่ในขณะที่เรายังต้องใช้ถุงลมนิรภัยรุ่นปัจจุบันกันอยู่ นอกจากเด็กเล็กที่ต้องระวังอย่างดีแล้ว ผู้ขับขี่และผู้โดยสารยังไว้วางใจกับแอร์แบ็กได้  เพียงขอให้ยึดหลักว่า นั่งห่างเข้าไว้ใส่เข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง