บทที่ 4 ถุงลมนิรภัย

4.2 ผลกระทบจากถุงลมนิรภัย

เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัย ในระบบการจราจรของสหรัฐอเมริกา  คือ NHTSA ( NATIONAL HIGHWAY TRAFFIC SAFETY ADMINISTRATION ) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตจากถุงลมนิรภัยจำนวนกว่า 50 คน หลังจากนั้น ปัญหาของถุงลมนิรภัยที่เคยจำกัดกันอยู่ในวงแคบ ก็กลายเป็นของร้อนขึ้นมาทันที

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลรายละเอียดจาก NHTSA ตีพิมพ์ใน CAR AND DRIVER ซึ่งนำมาให้ศึกษา  และคงต้องร่วมใช้วิจารณญาณกันดูครับ

ข้อมูลจาก NHTSA

ในรายงาน ผู้ใหญ่  19 คน ที่เสียชีวิตนั้น  มีอยู่  10  คน  ไม่ใส่เข็มขัดนิรภัย,  1 คน ใส่เข็มขัดนิรภัยผิดวิธี  และอีก 2  คน  ไม่รู้ว่าใส่หรือไม่  เพราะฉะนั้นจึงเหลือ 6 คนที่ใส่เข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้อง  แต่ 2 ใน 6  มีหลักฐานว่าหมดสติและฟุบลงกับพวงมาลัยก่อนชน ดังนั้น  4 ใน 19  คนคือผู้ที่ใส่เข็มขัดนิรภัยถูกต้องและเสียชีวิตจากการถูกแอร์แบ็กกระแทก โดยที่ทั้งหมดเป็นผู้หญิง  และ 3 ใน 4 คนมีความสูงอยู่ระหว่าง 145 - 160 เซนติเมตร

ถ้าดูในภาพรวม  บังเอิญเหลือเกินที่ 15 คนจาก 19 คนที่เสียชีวิต ก็เป็นผู้หญิง!!

มาดูในด้านของเด็กกันบ้าง  เด็ก 40 คน ที่เสียชีวิต 19 คนนั่งอยู่ในเบาะหน้าโดยไม่มีอะไรยึดรัดตัวเลย,  14 คนนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กชนิดหันหน้าไปท้ายรถ (REAR-FACING CHILD SEAT) แต่นำมาวางไว้ที่เบาะหน้าซึ่งไม่ถูกต้องอยู่แล้ว, 4 คนใส่เข็มขัดนิรภัยชนิด 2 จุด อีก 1 คน ไม่รู้ว่าใส่หรือไม่

จึงเหลืออยู่ 2 ใน 40 คนที่ใช้อุปกรณ์นิรภัยครบถ้วนถูกต้อง และเสียชีวิตจากแอร์แบ็ก

ผลกระทบในสองมุมมอง

มองในแง่ดี ตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตเพราะถูกถุงลมนิรภัยกระแทกเป็นสาเหตุเดี่ยวๆอย่างชัดเจน มีไม่มากอย่างที่ตกอกตกใจกัน ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์นิรภัยกันไม่ถูกต้องครบถ้วน และมีแอร์แบ็กเป็นปัจจัยร่วม

ในอีกด้านหนึ่ง   ผู้เสียชีวิตทั้งหมดพบว่าเกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะและคอเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะต่อการถูกกระแทกโดยถุงลมนิรภัย และทั้งหมดเกิดอุบัติเหตุที่ความเร็วต่ำกว่า24 กม/ชม.  ( 15 ไมล์/ชม.) ทั้งหมดที่เสียชีวิตมีหลักฐานชัดเจนว่าถุงลมนิรภัยเป็นสาเหตุหนึ่งด้วยอย่างแน่นอน ไม่มีใครรู้ว่าในกลุ่มที่หลักฐานไม่ชี้ชัดและไม่ได้รวมข้อมูลไว้ด้วยนั้น มีเหยื่อของแอร์แบ็กมากไปกว่านี้อีกหรือไม่

ใครที่อยู่ในข่ายเสี่ยง?

การศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า  เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปีที่อยู่ในที่นั่งหน้าซึ่งติดตั้งแอร์แบ็ก มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าในรถที่ไม่มี แอร์แบ็ก 28 เปอร์เซนต์  ทางแก้ปัญหาสำหรับเด็กควรจะให้เด็กอยู่ในที่นั่งหลัง และใช้อุปกรณ์เสริมให้ถูกต้องกับอายุและขนาดของเด็ก  หรือตัดถุงลมนิรภัยสำหรับด้านผู้โดยสารออก ไปเป็นออปชั่นให้เลือกจะติดตั้งหรือไม่ติดตั้งก็ได้

สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่ต้องนั่งเผชิญหน้ากับถุงลมนิรภัย การใส่เข็มขัดนิรภัยเสมอนั้นเพียงพอต่อการป้องกันหรือไม่?

ลองย้อนไปดูตัวเลขข้างบนอีกครั้งดูครับ  ผู้เคราะห์ร้ายส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีร่างเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องนั่งใกล้พวงมาลัยมากกว่าปกติ  เป็นเรื่องที่กำลังวิตกกันมากในอเมริกา แล้วผู้หญิงไทยล่ะครับ  ผมว่าส่วนใหญ่ทีเดียวที่เข้าข่าย "ร่างเล็ก" อย่างที่ว่านี้

พลิกปูมแอร์แบ็ก

การจะดูต้นสายปลายเหตุ คงต้องกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ของถุงลมนิรภัยในอเมริกา ที่เริ่มพัฒนาขึ้นในราวปี 1970 เมื่อจะนำมาใช้งานจริงรัฐบาลจึงออกระเบียบควบคุมขึ้นคือ FMVSS 208 ( FEDERAL MOTOR VEHICLE SAFETY STANDARD)  ให้ถุงลมนิรภัย  เป็นอุปกรณ์ป้องกันผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ไม่ได้ใส่เข็มขัดนิรภัยเป็นหลัก เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน NHTSA กำหนดให้ทดลองโดยใช้ความเร็วในการชน 48 กม./ชม. กับหุ่นทดลองที่มีน้ำหนัก 75 กก.

ผลการทดลองที่จะพิสูจน์ได้ว่าหุ่นทดลองปลอดภัย  อ่านจากเซนเซอร์ซึ่งติดตั้งที่ศีรษะและหน้าอกของหุ่นโดยแรงกระแทก ไม่เกินเกณฑ์ที่ระบุไว้  ถุงลมนิรภัยจึงต้องพองตัวอย่างเร็วและแรง ให้ทันที่จะหยุดยั้งการเคลื่อนที่ของหุ่นไม่ให้พุ่งมาด้านหน้ามากนัก

ข้อมูลจากห้องทดลองโดยผู้ผลิตรายหนึ่งระบุว่า แรงกระแทกที่เกิดต่อหุ่นโดยทั่วไปจะมีค่าประมาณ 1600 ปอนด์เมื่อปะทะกับถุงลมนิรภัย  ณ  จุดที่มันขยายตัวเต็มที่แล้ว  แต่ถ้าผู้ขับขี่อยู่ใกล้พวงมาลัยมากกว่าปกติในรัศมี 0 ถึง 2  นิ้วจากจุดที่ถุงลมพองตัวสูงสุด  แรงกระแทกจะเพิ่มขึ้นได้เป็น 4000 ถึง 5000 ปอนด์  ในการทดลองแรงปะทะที่เกินกว่า 3000 ปอนด์ก็สามารถก่ออันตรายกับมนุษย์ได้แล้ว

ผู้เคราะห์ร้าย 15 ใน 19 คนที่เป็นผู้หญิง มีรูปร่างเตี้ยกว่า(ในสายตาฝรั่ง!) ทำให้ต้องเลื่อนที่นั่งใกล้พวงมาลัยกว่าปกติ จึงมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในกลุ่มที่ว่านี้

หนทางสู่แอร์แบ็ก ที่ปลอดภัยกว่า

ในขณะนี้มีความเห็นหลากหลายมากในการหลีกเลี่ยงอันตรายดังกล่าว  อันได้แก่

ผู้ขับขี่บ้านเรา คงมีไม่น้อยที่อยู่ในข่ายค่อนข้างเสี่ยงที่ว่า ใครที่รู้ตัวว่าความสูงน้อยเข้าเกณฑ์  และใช้รถที่มีถุงลมนิรภัยติดตั้งอยู่  จึงควรจะซีเรียสกับการใช้เข็มขัดนิรภัยให้มากกว่าปกติด้วยครับ  และพยายามปรับระยะจัดท่านั่ง  ให้ห่างจากพวงมาลัยเกินกว่า  10 นิ้ว หรือ 1 ฟุต ขึ้นไป  ส่วนเด็กนั้นคงต้องพิจารณาเป็นรายๆไป  ที่นั่งหลังปลอดภัยที่สุด  ถ้าจะไว้ที่นั่งหน้าต้องรัดเข็มขัดนิรภัยเสมอครับ

ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. 2543 นี้ ทาง NHTSA ได้ปรับปรุงมาตรฐานการทดสอบการชนใหม่แล้ว โดยจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะมีผลต่อถุงลมนิรภัยรุ่นหลังๆที่จะออกตามมา ซึ่งจะนำรายละเอียดมาให้ศึกษากันต่อไปนะครับ