บทที่ 2  เข็มขัดนิรภัย

2.3 การบาดเจ็บที่หน้าอก จากเข็มขัดนิรภัย

การบาดเจ็บต่อร่างกายมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน ถ้าหากว่าอวัยวะชิ้นนั้นๆ ได้รับแรงกระแทกที่มากเกินกว่าโครงสร้างบริเวณนั้นของร่างกายจะสามารถรับได้

เนื่องจากรถยนต์เป็นวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เมื่อเกิดการชนจนทำให้หยุดกะทันหัน
โมเมนตัมที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความเร็วอย่างทันทีทันใด  จะทำให้อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆน้อยๆที่มองดูไม่น่าจะมีพิษภัย  ก็สามารถก่อแรงกระแทก ขนาดมโหฬารต่อร่างกายได้

ก่อนจะมาเป็น PRETENSION

เข็มขัดนิรภัยในยุคเริ่มแรก  เป็นเพียงสายรั้งตัวธรรมดาที่ไม่มีกลไกซับซ้อนใดๆเข้ามายุ่งเกี่ยว  แม้จะมีประสิทธิภาพในด้านการยึดรั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไว้กับเบาะที่นั่ง จนเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล  แต่อาจจะไม่สามารถทำการยึดรั้งร่างกายได้ดีพอ  เนื่องจากบางครั้งยังมีความหย่อนตัวเกิดขึ้น
ทำให้ร่างกายผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารยังพุ่งไปด้านหน้าได้  การพัฒนาต่อมาจึงเพิ่มกลไกการดึงกลับ
เพื่อให้สายเข็มขัดกระชับตัวมากขึ้นในจังหวะที่เข็มขัดนิรภัยทำงาน

ระบบการดึงกลับที่พัฒนาขึ้นมามีอยู่ 3-4 แบบ  แต่ที่คุ้นกันดีคงจะเป็นระบบPRETENSION   ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม เป้าหมายคือ ต้องการให้สายเข็มขัดมีการกระชากกลับ
เพื่อยึดตัวผู้ที่อยู่ในที่นั่งให้มั่นคง  ลดโอกาสเกิดการเสียชีวิตลงไปได้มาก

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผลข้างเคียงที่อาจจะตามมา  ถ้าแรงกระชากกลับมีมากจนเกินไป คือการบาดเจ็บของบริเวณหน้าอกเอง  ในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บจากรถยนต์ในประเทศอังกฤษชิ้นหนึ่ง
ชี้ให้เห็นว่าในอุบัติเหตุรุนแรงจำนวน 3,276 รายนั้น  มีผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกเล็กน้อย (MILD
INJURY) จากเข็มขัดนิรภัย (SEATBELT LOADING) เกิดขึ้น 29.6 เปอร์เซ็นต์  ระดับปานกลาง 19.4 เปอร์เซ็นต์  และระดับรุนแรง 4.5 เปอร์เซ็นต์

การบาดเจ็บที่พบบ่อยคือกระดูกหน้าอกหัก (STERNAL FRACTURE) ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ป่วยได้  รายงานที่ค่อนข้างรุนแรงอีกชิ้นหนึ่งมาจากสหรัฐอเมริกา  โดยผู้ป่วยจากรถชนกันที่ความเร็วสูงมาก 1 ราย  ได้รับบาดเจ็บโดยมีเส้นเลือดแดงใหญ่ซึ่งออกมาจากหัวใจ (AORTA) ฉีกขาด  ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าน่าจะเกิดจากแรงกระชากที่เกิดจากการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย  ทำให้เกิดความดันขนาดสูงขึ้นในช่องทรวงอกและเกิดการแกว่งตัวของหัวใจ จนทำให้บริเวณขั้วของหลอดเลือดดังกล่าวฉีกขาด

ถ้านึกไม่ออกว่าแรงกระชากที่ว่ารุนแรงขนาดไหน การทดสอบการชนรถยนต์รุ่นหนึ่งพบว่า  แรงกระชากที่กระทำต่อหน้าอกหุ่นทดสอบซึ่งเกิดจากเข็มขัดนิรภัย  ขณะที่รถพุ่งเข้าชนสิ่งกีดขวาง วัดได้ถึง 8,000 นิวตัน  หรือประมาณ 800 กิโลกรัม !!

อย่างไรก็ตาม  ทุกท่านคงตระหนักดีว่า  ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมาคงจะเสียชีวิต  ถ้าหากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ดังนั้นไม่ควรเข้าใจผิดว่าเข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มการบาดเจ็บต่อร่างกาย

เข็มขัดนิรภัยยุคใหม่

จุดอ่อนเล็กน้อยของเข็มขัดนิรภัยนี้กำลังได้รับการแก้ไขโดยบริษัทรถยนต์หลายบริษัท
ซึ่งอีกไม่นานคงจะเริ่มวางตลาด ตัวอย่างชิ้นหนึ่งคือ  ระบบ AIR BELT ของฮอนด้า เป็นถุงลมขนาดเล็กซึ่งติดตั้งอยู่กับสายคาดลำตัวตั้งแต่หัวไหล่ลงมา  ถุงลมนี้จะทำงานเมื่อเซ็นเซอร์ถูกกระตุ้น  และจะช่วยดูดซับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นต่อหน้าอก

อีกระบบหนึ่ง  เป็นของโตโยต้า  ซึ่งมีการติดตั้งในรถยนต์เลกซัสแล้ว รวมไปถึงรุ่นอื่นๆที่จะวางตลาดในอเมริกา  เป็นการปรับปรุงระบบการทำงานแบบ PRETENSION เดิม  โตโยต้าเรียกระบบใหม่นี้ว่า  PRE-TENSIONERS WITH FORCE LIMITING SEATBELTS  ระบบนี้จะลดเวลาการตอบสนองของ PRETENSION ลง  นั่นคือเข็มขัดนิรภัยจะทำงานเร็วขึ้น  แต่ก็จะมีกลไกลดแรงกระชากลง
ซึ่งจะค่อยๆทำงานโดยมีแท่งโลหะอลูมิเนียมเป็นเหมือนตัวตรวจสอบแรงกระชาก ถ้าแรงกระชากสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้  แท่งอลูมิเนียมดังกล่าวจะค่อยๆยุบตัว  แรงกระแทกต่อหน้าอกส่วนหนึ่งจึงถูกดูดซับลงไป
ไม่กระแทกไปที่หน้าอกอย่างรุนแรงทันทีทันใดเหมือนระบบเดิมๆ    โอกาสที่ซี่โครงจะหัก หรือปอดฉีกขาดก็จะลดลงไปด้วย

แม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆเหล่านี้ ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนจะแพร่หลายมาสู่ผู้ใช้รถยนต์ในวงกว้าง  แต่ในปัจจุบันนี้เข็มขัดนิรภัยที่ใช้กันอยู่ก็ยังไว้วางใจได้ดี และไม่ควรละเลยการคาดเด็ดขาด  ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลต่อความปลอดภัยของท่านเอง รวมไปถึงต้องเสียค่าปรับโดยไม่จำเป็นอีกด้วย !