คาร์ แอนด์ เมดิคอล
17/12/00

ย้อนวิถี เสี้ยววินาทีก่อนเกิดอุบัติเหตุ

สัจธรรมของการแก้ปัญหาใดๆก็ตาม คือการรู้แจ้งถึงสาเหตุของปัญหานั้นเสียก่อน และเมื่อเข้าใจปัญหานั้นแล้ว การแก้ไขหรือป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะตามมา...

ในเรื่องราวของอุบัติเหตุบนท้องถนนก็เช่นกันครับ ปัจจุบันแม้อุปกรณ์นิรภัยในแบบ passive safety จะมีการติดตั้งกันในรถยนต์มากมาย แต่อุปกรณ์ป้องกันแบบ active safety  ก็ยังถือเป็นที่สุดแห่งอุปกรณ์นิรภัย เพราะเป็นตัวการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น  การจะออกแบบสร้างอุปกรณ์เหล่านี้ ให้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงต้องการการศึกษารูปแบบการเกิดอุบัติเหต ุอย่างละเอียดลออที่สุด เท่าที่จะเก็บเกี่ยวข้อมูลได้

เกิดอะไรขึ้นในช่วงเสี้ยวนาทีก่อนการชน?   ทำไมผู้ขับขี่ถึงสูญเสียการควบคุมรถ?   ก่อนการชนรถวิ่งไปอย่างไร?  คำถามที่ยังไม่มีคำตอบเหล่านี้ เป็นเรื่องที่นักวิจัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุอยากรู้  และกำลังพยายามจะรู้ ด้วยโครงการ ศึกษาตัวอย่างการเกิดอุบัติเหตุ 1,000 ราย ซึ่งทำการศึกษาในยุโรปโดยหน่วยงานอิสระ CEESAR (European center for safety studies and risk analysis) ที่มีผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ในยุโรปหลายรายร่วมทำงานอยู่ด้วย โดยเริ่มงานมาตั้งแต่ปี 1994
และเพิ่งจะรวบรวมครบ 1,000 ราย เมื่อประมาณปีเศษที่ผ่านมา

ในทันทีที่ได้รับการแจ้งอุบัติเหตุ ทีมงานของ CEESAR จะรีบไปยังที่เกิดเหตุ และประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะหน่วยกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์ ในการเก็บรวบรวมหลักฐานข้อมูลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เท่าที่จะทำได้ หลังจากนั้นจะนำข้อมูลทั้งหมด กลับมาวิเคราะห์ และจำลอง "สถานการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ" ขึ้นมา เพื่อให้รู้ถึงที่มาที่ไปของอุบัติเหตุครั้งนั้นๆ

ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมได้จากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า  80 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดของผู้ขับขี่โดยตรง เป็นการสนับสนุนข้อมูลซึ่งเป็นที่ทราบกัน ในแวดวงผู้ทำงานนิรภัยมานานแล้วว่า "มนุษย์ปัจจัย" (Human factor) เป็นตัวการสำคัญที่สุดในการก่ออุบัติเหตุ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ตัวอย่างเช่น
การชนกันบริเวณทางแยกส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่ไม่ระมัดระวังเพียงพอ, อุบัติเหตุในทางโค้งเกิดจาก การประมาณสภาพความโค้งหรือสภาพผิวถนนผิดพลาด ทำให้รถหลุดโค้งไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ข้อมูลชี้ออกมาคือ ผู้ขับขี่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ จะมีปฏิกิริยาตอบสนองมากเกินไป (Overreact) ดังนั้น แม้แต่ในเส้นทางตรงๆ ก็ยังเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือ 3 ใน 10 ของผู้เสียชีวิต จะไม่ถึงแก่ความตายถ้าได้คาดเข็มขัดนิรภัยไว้ อีก 2 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตในรถรุ่นก่อนๆ จะไม่เสียชีวิตถ้าในรถคันนั้นมีอุปกรณ์นิรภัย แบบเดียวกับที่มีอยู่ในรถรุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน นั่นหมายถึงว่า 5 ใน 10 รายที่ว่ามานั้น ได้รับการปกป้องชีวิตด้วยอุปกรณ์นิรภัยแบบ passive safety แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้นอาจจะรักษาชีวิตไว้ได้ ถ้ามีอุปกรณ์ active safety ที่ดีพอ ซึ่งอาจจะหมายถึง อุปกรณ์ตรวจจับสภาพการขับขี่ ที่จะทำการเตือนผู้ขับขี่ทันทีที่รถ อยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น กำลังหลุดออกนอกเส้นทางที่กำลังวิ่ง หรือกำลังเข้าใกล้สิ่งกีดขวางเบื้องหน้ามากเกินไป

แม้ว่าการวิเคราะห์ข้อมูลเพียง 1,000 ราย จะไม่สามารถสร้างภาพจำลองการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด ที่มีเป็นจำนวนหลายสิบล้านรายต่อปีได้  แต่การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ จะนำไปถึงการวางแผนการเก็บข้อมูลที่ละเอียดขึ้น และมากขึ้นในอนาคต ที่ปัจจุบันกำลังเริ่มดำเนินโครงการระยะที่สองในยุโรป
ซึ่งจะเป็นหนทางการคิดค้นอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหต ุที่มีประสิทธิภาพสูงในอนาคต

นั่นหมายถึงว่า ชีวิตที่จะต้องบาดเจ็บและสูญเสียไปกับอุบัติเหตุบนท้องถนน ก็จะลดจำนวนลงตามไปด้วย...
 
ตามดูการทำงานของ CEESAR
1 เก็บข้อมูล

    "มีรถชนกัน เหตุเกิดที่..."  

    ...เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง จุดเกิดเหตุเป็นทางโค้ง และมีฝนตก โตโยต้า คาริน่า ชนเข้ากับ เรโนลต์ 5 ที่วิ่งสวนมา  เจ้าหน้าที่ของ
    CEESAR ได้รับแจ้งเหตุจากหน่วยกู้ภัย และไปถึงที่เกิดเหตุพร้อมๆกับหน่วยพยาบาลฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ 3 ชุด ในหน่วย CEESAR
    ซึ่งประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์,  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาพถนน และนักจิตวิทยา จะแยกกันทำการรวบรวมข้อมูลในที่เกิดเหตุ
    เพื่อบอกให้ได้ว่า ย้อนหลังไป 10 วินาทีก่อนจะชนกัน รถแต่ละคันวิ่งกันมาอย่างไร และพุ่งเข้าหากันในลักษณะไหน...  

 

    สัมภาษณ์ผู้ขับขี่
    นักจิตวิทยา เข้าไปอัดเทปสัมภาษณ์ผู้ขับขี่รถทั้ง 2 คัน ที่ได้รับบาดเจ็บกันคนละเล็กคนละน้อย
    ผู้ขับขี่ที่ยังสั่นอยู่กับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสดๆร้อนๆ ได้เล่าเหตุการณ์เท่าที่พอจำได้ให้เจ้าหน้าที่รับฟัง 
    การสัมภาษณ์ทันทีมีความสำคัญมาก เพราะถ้าปล่อยไปอีกแค่ 2-3 วัน รายละเอียดสำคัญๆบางอย่างอาจจะถูกผู้ขับขี่ลืมไปได้...  

    ตรวจสอบสภาพรถ  
    ผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์ เข้าไปถ่ายภาพรายละเอียดทั้งหมด
    และทำการตรวจสอบบันทึกสภาพรถแต่ละคัน...กระจกหน้ารถสกปรกมากหรือไม่?,  ไฟหน้ายังเปิดอยู่รึป่าว?, คันเกียร์อยู่ที่เกียร์อะไร?, 
    ความดันลมยางแต่ละล้อมีค่าเท่าไหร่?,   ถ้าไม่เข้าไปบันทึกทันที
    ข้อมูลต่างๆพวกนี้จะเปลี่ยนไปได้เมื่อรถถูกเคลื่อนย้ายออกจากที่เกิดเหตุ...  

    ตรวจสอบสภาพถนน 
    ผู้เชี่ยวชาญสภาพถนน จะเข้าไปสังเกตดูพื้นผิวถนน  เพื่อจะระบุจุดที่เกิดการชนกันขึ้น,  เข้าไปสังเกตหารอยล้อหรือเศษกระจกบนไหล่ทาง, 
    วัดความยาวรอยล้อที่เกิดจากการเบรค  และนำไปประเมินกับจุดสุดท้ายที่รถไปสงบนิ่งอยู่...  

    รวบรวมข้อมูลขั้นสุดท้าย  
    อีก 2-3 วันหลังเกิดเหตุ เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาดูกัน  ผู้ขับขี่จะถูกสัมภาษณ์อีกครั้ง, 
    ผู้เชี่ยวชาญจะเข้าไปตรวจสอบสภาพรถยนต์ที่อยู่ในอู่แล้วอีกรอบหนึ่ง ตรวจดูการบุบสลายของตัวรถ ลักษณะของเบาะที่นั่ง
    รอยครูดบนเข็มขัดนิรภัย,  ส่วนผู้ตรวจสอบถนนก็จะออกไปดูพื้นที่เกิดเหตุ วัดรัศมีความโค้งของโค้งบนทางหลวงจุดที่ชนกัน
    รวมทั้งความชันของโค้ง  และข้อมูลขั้นสุดท้ายจะถูกนำไปสร้างภาพการเกิดอุบัติเหตุขึ้น  


2. สร้างภาพที่เป็นจริงมากที่สุด
 
    สร้างภาพจากข้อมูล...  
    จากข้อมูลระยะทางที่รวบรวมได้ รถเรโนลต์กระเด็นไป 3.5 เมตร หลังจากชนกัน เมื่อประเมินจากน้ำหนักของรถ 
    คำนวณได้ว่าเกิดความหน่วง (deceleration) ขึ้น 4 เมตร/วินาที2 แสดงว่าความเร็วสุดท้ายก่อนเข้าชนของเรโนลต์อยู่ที่ราว 16 - 19
    กม/ชม.  

    อีกด้านหนึ่ง เมื่อประเมินจากความเสียหายที่เกิดกับตัวรถ  ทีมงานคำนวณโดยพิจารณาว่า ถ้านำรถคันนี้มาพุ่งชนวัตถุที่อยู่นิ่ง
    แล้วเกิดการยุบตัวเท่าที่เกิดขึ้น จะต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่ (เรียกว่าค่า Equivalent Energy Speeds - EES)  ด้วยวิธีนี้
    ประมาณได้ว่าขณะเข้าชน เรโนลต์ 5 มีความเร็วประมาณ 45-50 กม/ชม.  

    ด้วยการพิจารณาจาก 2 วิธีข้างต้น ทีมงานสรุปว่า ขณะที่จุดสุดท้ายก่อนเข้าชนกัน โตโยต้า คาริน่า มีความเร็วประมาณ 65-45 กม/ชม.
    ในขณะที่เรโนลต์ 5 มีความเร็วประมาณ 45-50 กม/ชม  

    ...ร่วมกับคำบอกเล่าของผู้ขับขี่ และการตรวจสภาพถนน...  
    ด้วยคำถามที่ป้อนกับผู้ขับรถทั้ง 2 คัน ทีมงานทราบว่า ในขณะที่ขับมาเรื่อยๆ คนขับ โตโยต้า คาริน่า เหลือบมองดูกระจกมองหลัง
    ส่วนการตรวจสอบพื้นที่ชี้ให้เห็นว่า ในแว่บนั้นเอง ที่รถโตโยต้า วิ่งไต่ไปบนไหล่ทาง...  

    ...ทำให้ได้ข้อสรุปสุดท้าย. 

    ภาพสุดท้ายของอุบัติเหตุที่ได้มาคือ ในขณะที่ โตโยต้า คาริน่า (คันสีแดง) วิ่งมาด้วยความเร็ว 69 กม/ชม.
    คนขับเหลือบไปมองกระจกหลังในช่วงที่กำลังเข้าโค้ง และผิวถนนค่อนข้างเปียก และยางรถที่สึกไปพอสมควร รถไต่ขึ้นไปบนไหล่ทาง
    และคนขับเสียการควบคุม ทำให้โตโยต้าคันนี้ แฉลบไปชน เรโนลต์ 5 (คันสีน้ำเงิน) ที่กำลังวิ่งสวนมาดีๆ ด้วยความเร็ว 73 กม/ชม จุดที่ชนกันนั้น
    ความเร็วของโตโยต้าเท่ากับ 55 กม/ชม และ เรโนลต์เท่ากับ 40 กม/ชม

ตีพิมพ์ในนิตยสาร ไทยไดรเวอร์ เม.ย. 2543