ผลการใช้ระยะยาว

พื้นที่ส่วนนี้  จะได้ประโยชน์มากถ้าผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยือนเพจนี้ทุกท่าน  ช่วยกันส่งข้อมูลรถยนต์ที่ท่านใช้อยู่มาลงไว้ที่นี่
มีผู้ที่จะเลือกรถยนต์อีกหลายท่าน  ที่ต้องการทราบข้อมูลการใช้งาน  ข้อมูลของศูนย์บริการ  รวมทั้งบางท่านอาจจะมีกลเม็ดเด็ดพรายในการใช้รถยนต์รุ่นนั้นๆ  ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้รถรุ่นเดียวกันท่านอื่นๆได้
  จึงอยากเชิญชวนให้ช่วยกันส่งข้อมูลการใช้งานรถยนต์ของท่าน ที่คาดว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้อื่น  ทั้งอายุรถ  ระยะทางที่วิ่งไป  ลักษณะการใช้งาน  การเข้าซ่อมทั้งตามระยะและนอกระยะ  อู่ที่ใช้ประจำ(ถ้ามีและคิดว่าดี...ไม่ฟัน) มาเผยแพร่ที่พื้นที่ส่วนนี้ครับ


บีเอ็มดับบลิว 318 ไอ เอ็ม 40
พ.ค. 1993
ระยะทางใช้งาน 126,000 กม. เฉลี่ย 22,000 กม./ปี

          ซีรี่ส์ 3 เป็นอนุกรมที่ขายดีที่สุด ของบีเอ็มดับบลิว  และปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมา 5 รุ่นแล้ว  สำหรับรุ่นที่รายงานนี้ เป็นรุ่นที่ 4 รหัสตัวถัง อี 36 เป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของบีเอ็ม

          เริ่มเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก ด้วยรุ่น 320 ไอ ในรูปแบบ ซีบียู ก่อนจะเริ่มประกอบในประเทศด้วยรุ่น 318 ไอ ตามมาด้วย 325 ไอ และปัจจุบัน ในบ้านเรายังคงมีจำหน่ายด้วย รุ่น 318 ไอ และ 323 ไอ

          สำหรับ 318 ไอ ในระยะแรก จะใช้เครื่อง 4 สูบ 8 วาล์ว 1800 ซีซี รหัสเครื่องยนต์ เอ็ม 40 ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นเครื่อง 4 สูบ 8 วาล์วเช่นเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดภายใน เพิ่มแรงม้าขึ้นเล็กน้อย ภายใต้รหัส เอ็ม 43  คันที่รายงานนี้ เป็นรุ่น เอ็ม 40 เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ

การใช้งาน
          318 ไอ เป็นรถที่ไม่จัดจ้าน ออกไปทางค่อนข้างจะอืดเสียด้วยซ้ำ เคยจับเวลา 0-100 ใช้ไป 14-15 วินาที  และเชื่อว่า รุ่นที่ประกอบในประเทศ เซ็ทช่วงล่างมาค่อนข้างนิ่ม เพื่อเน้นความนุ่มนวล ทำให้เกิดข้อเสียในเวลาวิ่งทางไกล โดยเฉพาะเมื่อเจอคอสะพานโหดๆ จะโยนตัวอย่างชัดเจน  แต่จุดเด่นที่เห็นได้ชัดคือ ความแม่นยำของพวงมาลัย และการตอบสนองต่อการบังคับควบคุม ถือว่าดีกว่ารถอีกหลายๆคัน อย่างเห็นได้ชัด

          ช่วงปีแรกที่ใช้งาน มีปัญหาที่พบคือ

          รายการทั้งหมดข้างบนนั้น ยังไม่ต้องควักกระเป๋า เพราะเกิดในช่วง รถยังอายุไม่ถึง 1 ขวบ เลยเคลมได้หมด

          เข้าปีที่ 2 วิ่งไป 30,000 กว่ากิโล เข้าศูนย์รองเมือง  ตรวจเช็คตามที่ไฟ 5 ดวงบนหน้าปัดสั่ง  ทางรองเมืองบอกว่า ต้องเปลี่ยนสายพานไทมิ่ง เพราะเป็นข้อกำหนด เล่นเอางงไปเหมือนกัน  เพราะนี่คงเป็นสายพานไทมิ่งที่ อายุสั้นที่สุดในโลก เค้าอ้างว่า เพราะรุ่นนี้ เครื่องแรงบิดสูง และเมืองไทยอากาศร้อนมาก  ผมก็ไม่กล้าเสี่ยง เลยยอมเปลี่ยนไป  แต่ถ้าดูในสมุดคู่มือ จะระบุว่าให้เปลี่ยนที่ "ครั้งที่ 2 ของการตรวจสภาพ 2" ซึ่งคำนวณดูแล้ว เท่ากับระยะประมาณ 80,000 กม.  ก็ไม่ทราบว่า สาเหตุจริงๆ เพราะอะไร  และได้ข่าวว่า ทุกวันนี้ ใครเข้าศูนย์ ก็จะถูกจับเปลี่ยน ทุก 30,000 โล เหมือนเดิม

          หลังจากนั้น เริ่มทำการเซอร์วิส เล็กๆน้อยๆ เช่น เปลี่ยนหัวเทียน  ไส้กรองอากาศ ล้างมอเตอร์เดินเบา ด้วยตัวเอง  น้ำมันเครื่องก็เข้าปั๊ม  ถึงเริ่มรู้ว่าอะหลั่ยบีเอ็มข้างนอกนี่ ไม่แพงเลย  และก็สั่งซื้อตัวเซ็ทไฟ 5 ดวงที่หน้าปัด (ไฟ service indicator) มา ตอนนั้นตัวละประมาณ 1,000 บาท  ตั้งแต่นั้น ก็เริ่มตีตัวออกห่างศูนย์บริการของบีเอ็ม

          ใช้ไปประมาณ 70,000 กิโล มีอาการ พวงมาลัยสั่นมาก เวลาเบรค ช่างดูบอกว่าจานเบรคคด ถอดออกมาดูก็ไม่ชัดเจน แต่วัดได้ว่าบางมากแล้ว จึงเปลี่ยนจานใหม่ ซื้อที่หลังวัดโสม จานละ 1,000 บาทนิดๆ  แต่ก็ยังมีอาการอยู่  สุดท้ายไปจบที่ร้านยาง เมื่อพบว่า แม็กที่ติดมาจากโรงงานนั้น เบี้ยวบิดทั้ง 2 วง  เลยต้องหาซื้อเปลี่ยนใหม่ โชคดีที่บังเอิญมีแม็กโรงงานเหมือนกัน ที่เจ้าของถอดขายไว้ที่ร้าน เพราะเปลี่ยนใส่แม็กใหญ่ไป สภาพยังสดมาก เลยจัดการเปลี่ยนรองเท้าซะใหม่ทั้ง 4 วง  อาการหน้าสั่นก็หายไป

          ที่ระยะ 77,000 โล  เข้าศูนย์พระราม 4 อีกครั้ง เพราะจะเอารถไปใช้ที่ต่างจังหวัด ถูกเปลี่ยนสายพานไทมิ่งอีกรอบ และเช็ค-เปลี่ยนอะหลั่ยอีกบางตัว ควักกระเป๋าไป 8,500 บาท

          ใช้ไปประมาณ 90,000 โล มีเสียงดังหวือ ดังมากจากด้านหลังเวลาวิ่งประมาณ 100 กม/ชม  พบว่าสาเหตุมาจาก ลูกปืนล้อหลังซ้ายเสีย จึงเปลี่ยนใหม่ที่ศูนย์ สุราษฎร์ธานี  ค่าอะหลั่ย ประมาณ 1,300 ค่าแรง 800 !!! (เปลี่ยนชั่วโมงกว่าๆ) แต่ก็เงียบได้เหมือนเดิม

          ครั้งสุดท้าย ที่เปลี่ยนอะหลั่ยกันมากหน่อย คือที่ระยะ 125,000 กิโล เมื่อต้นเดือนกันยา 41 นี่เอง มีเสียงดังจากเครื่องยนต์ ครั้งแรกคิดว่าเป็นเสียงวาล์วเขก เพราะผู้รู้บอกว่า วาล์วลิฟเตอร์ ที่เป็นไฮโดรลิค คงหมดอายุแล้ว และเริ่มมีน้ำมันเครื่องซึม จากประเก็นฝาวาล์ว ประกอบกับสายพานหน้าเครื่อง ทั้ง 3 เส้น สภาพก็แย่เต็มที จึงเอาไปอู่ที่ทำกันประจำ ตัดสินใจเปิดฝาวาล์วดู และเปลี่ยนสายพานไทมิ่งด้วยเลย  ปรากฎว่า วาล์วลิฟเตอร์สภาพยังดี เสียงมาจากสายพานไทมิ่งหย่อน ไปตีกับขอบข้างๆ  และลูกรอกปรับแรงตึงสายพานไทมิ่ง ก็ฝืดและดังมาก  จึงจัดการเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด  รวมค่าอะหลั่ย เปลี่ยนสายพานไทมิ่ง สายพานหน้าเครื่อง 3 เส้น  ลูกรอก 3 ตัว  ประเก็นฝาวาล์ว  4,800 บาท ช่างคิดค่าแรงไป 600 บาท  เครื่องเงียบลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน

          อีกอย่างที่ผมทำเป็นประจำ และไม่ได้อยู่ในคำแนะนำ ในสมุดคู่มือ คือเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ และน้ำมันเฟืองท้าย ปีละครั้ง โดยจะเปลี่ยนช่วงปลายปี หลังหน้าฝน ทั้ง 2 อย่างถ้าทำที่ศูนย์ ก็ประมาณ 1,000 บาทครับ  แต่ยังไม่เคยเปลี่ยนไส้กรองน้ำมันเกียร์  เพราะทราบมาว่า รุ่นนี้มีแม่เหล็ก ติดอยู่ที่แคร้งค์น้ำมันเกียร์ จะคอยจับเศษโลหะเอาไว้ ช่วยยืดอายุไส้กรองไปอีกหน่อย และเกียร์ก็ยังนุ่มนวลดีมาก ไม่มีอาการสะอึก สำลักอะไรมาก่อกวน

สรุป
          ผมเชื่อว่า มีหลายคนที่ขายบีเอ็มทิ้ง เพราะทนเซอร์วิสไม่ไหว  แต่ถ้าคุณสามารถดูแลรถได้เองบ้าง มีอู่ที่พอเชื่อถือได้ และรู้แหล่งซื้ออะหลั่ย ซึ่งก็หาไม่ยากเลย  คุณจะพบว่า 318 ไอ เป็นรถที่น่าใช้มากคันหนึ่ง

          สำหรับปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้า ที่หลายคนกลัวกันนั้น  จากประสบการณ์คันนี้ เท่าที่เล่ามา จะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องระบบไฟฟ้า เพียง 2 ครั้งในช่วงปีแรก หลังจากนั้นไม่เคยมีปัญหา และผมก็ไม่เคยใช้ MODIC มาจับเลย ตลอดเวลากว่า 3 ปี ( อ้อ! เมื่อ 3-4 เดือนก่อน แวะไปให้เค้าเอา MODIC จับให้ เพราะเกียร์ไม่ค่อยยอมคิคดาวน์  พบ Fault ที่บันทึกไว้ใน  ระบบคิคดาวน์ของเกียร์ ซึ่งก็ปรากฏว่าเป็นเพราะ สายคันเร่งหย่อนเกินไป แม้จะเหยียบคันเร่งจม และกระแทกคิคดาวน์สวิทช์  ลิ้นคันเร่งก็เปิดไม่สุด สมองกลเลยสับสน  จัดการตั้งสายคันเร่งใหม่ก็หาย )  และตามความเห็นของช่างบางท่านก็คือ ใช้ MODIC จับเมื่อมีอาการผิดปกติ ไม่น่าจะจับเป็น routine แล้วชาร์จเงินกันทุกครั้ง อย่างบางศูนย์น่ะครับ

หมายเหตุ

 

 
โอเปิล คาริบร้า  2.0 - 8 วาล์ว
เม.ย. 1994
ระยะทางใช้งาน 81,000 กม. เฉลี่ย 20,000 กม./ปี
 
         โอเปิล คาริบร้า เป็นสปอร์ตคูเป้ 4 ที่นั่ง ที่พัฒนาจากฟลอร์แพนของ โอเปิ้ล เวคตร้า รูปร่างเด็ดขาด ขนาดเคยสร้างปรากฎการณ์ Steal the show ในคราวที่เปิดตัวพร้อมกับ บีเอ็มดับบลิว ซีรี่ส์ 8 ที่แฟรงค์เฟิร์ต เมื่อเกือบ 10 ปีก่อนมาแล้ว
         เข้ามาขายในบ้านเรา ในรูปรถนำเข้า ซึ่งมีทั้งแบบฝาสูบ 8 วาล์ว และ 16 วาล์ว 2.0 ลิตร คันที่นำมารายงานนี้ เป็นเวอร์ชั่น 8 วาล์วต่อสูบ ราคาออกตัวขณะนั้นประมาณล้านต้นๆ
 
การใช้งาน
         คุณภาพการขับขี่อยู่ในระดับดี กำลังวังชายอมรับได้ อาจจะอืดไปนิด เพราะเป็นเกียร์ออโต้  ช่วง 2 ปีแรกเข้าเช็คกับศูนย์ เพราะมีประกัน 
         เมื่อใช้งานไปสักพัก ปัญหาปวดหัวที่เจอชิ้นแรกคือ เสียงดังกุกกักจากช่วงล่างด้านหน้า เวลาเลี้ยวแรงๆ ช่างศูนย์ค้นสาเหตุหลายครั้ง สันนิษฐาน (เดา) ไปต่างๆนาๆ เคยเปลี่ยนหัวเพลาไปแล้วเพราะช่างบอกว่าหัวเพลาสึก โชคดีที่ยังเคลมได้ แต่ก็ยังไม่หาย เทียวไล้เทียวขื่ออยู่เกือบปี ถึงเจอว่าเป็นเพราะขายึดคอมเพรสเซอร์ (ซึ่งมาติดตั้งในเมืองไทย) ไปกระแทกกับส่วนของเสื้อสูบ พอขยับออกมา อาการก็หายไป
         ปัญหาของแอร์ยังไม่จบ เมื่อแอร์มีเสียงดังตอนใช้ไปปีกว่าๆ ช่างบอกคอมฯพัง ต้องเปลี่ยนทั้งลูกใหม่ และจ่ายเอง ต่อรองกันพักใหญ่เลยเปลี่ยนแค่ลูกปืนคอมฯ อาการก็หายไป แต่ก็ใช้ไปได้อีกสัก 20,000 โล คอมก็พัง ต้องเปลี่ยนลูกใหม่
         อีกเรื่องที่เจอคือ สายคอยล์ขาดใน วิ่งๆอยู่ก็ดับไปเฉยๆ ทั้งๆที่อายุรถยังไม่ครบ 2 ปี ก็ยังโชคดีที่เคลมได้ แต่สงสัยว่าทำไมอายุมันสั้นจัง  และเมื่อใช้ไปได้ประมาณ 60,000 โล สายหัวเทียนก็ขาดอีก ต้องเปลี่ยนใหม่ 
         ทุกวันนี้เลิกใช้บริการของศูนย์ หันมาใช้อู่แถวรามอินทราแทน ฝีมือดี ช่างคุยกันรู้เรื่อง ราคาใช้ได้
 
สรุป 
         บทสรุปของคาลิบร้าคันนี้จากเจ้าของรถคือ รถดีบริการห่วย
 

 ฟอร์ด มอนเดโอ 2.0 GLX ออโต้
ม.ค. 1994
ระยะทางใช้งาน 80,000 กม. (เฉลี่ย 18000 กม./ปี)
 
          ฟอร์ด มอนเดโอ เข้ามาในเมืองไทยเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ภายใต้การจัดจำหน่ายของ ยนตรกิจ ก่อนจะเปลี่ยนมือมาทำตลาดและบริการ โดยฟอร์ดเซลส์ ประเทศไทย ในปัจจุบัน
          คันที่นำมารายงานนี้ เป็นรุ่น 5 ประตู เกียร์ออโต้ ราคาขณะนั้น 960,000 บาท และในระยะหลังผู้เขียนมีโอกาสสัมผัสรถคันนี้ค่อนข้างมาก จึงได้รายละเอียดมาพอสมควร
 
การใช้งาน
          ต้องยอมรับว่า ในแง่การขับขี่แล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว การเกาะถนน การทรงตัว และการตอบสนองจากเครื่อง 2 ลิตร 136 แรงม้าจัดว่าพอตัว
          การใช้งานในช่วง 1 ปีแรก ยอดเยี่ยมมาก การบริการซึ่งยังเป็นยนตรกิจในช่วงนั้น ใช้บริการศูนย์ราชเทวี ก็ไม่มีข้อตินอกจากราคา สไตล์ยนตรกิจ รถคันนี้เข้ารับการตรวจเช็คตามระยะ ทุกครั้ง ทั้งในและนอกระยะประกัน ( 1 ปี )
 
          เข้าต้นปีที่2 ก็ได้เสียเงินชุดใหญ่ เมื่อนำรถไปวิ่งผ่านแผ่นเหล็กปิดผิวถนน ซึ่งกระดอนขึ้นมาฟาดใต้ท้องรถ ทำให้หม้อน้ำแตก แคร้งค์น้ำมันเครื่องแตก และถังน้ำมันทะลุ ต้องเปลี่ยนทั้งชุด  ที่เป็นแบบนี้เพราะ รถรุ่นนี้ระยะกราวนด์เคลี่ยร์รานซ์ต่ำมาก และไม่มีกันแครงค์ติดตั้งมา  (เพิ่งจะมาติดในรุ่นหลังๆนี้) ก็ขอแนะนำผู้ที่ใช้อยู่ลองมุดดูใต้ท้อง ถ้าไม่มีขอแนะนำให้จัดการซะนะครับ จ้างร้านทำท่อไอเสียฝีมือดีๆ ไม่น่าเกิน 1500 - 2000 บาท
          เมื่อใช้งานไปประมาณ 2 ปี 9 เดือน ที่ระยะ 53950 กม. เกียร์อัตโนมัติไม่ทำงาน เข้าศูนย์บอกว่าชุดคลัชท์เสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ หมดไปประมาณ 30000 บาทเศษ
          หลังจากจัดการเกียร์ไปได้ราวครึ่งปี ที่ระยะ 64000 กม. เกียร์เข้าไม่ได้อีก คราวนี้ศูนย์ราชเทวีบอกว่าเสื้อเกียร์ร้าว ต้องเปลี่ยนใหม่อีก เจอไปอีกประมาณ 20000 บาท และเริ่มเข้าสู่ช่วงแห่งการรวนต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
 
          ที่เวลา 3 ปีครึ่ง ระยะ 65500 กม. ไดสตาร์ทก็กลับบ้านเก่า สตาร์ทแล้วรูด ไปกัดเอาฟลายวีลเข้าให้ด้วย เจอไป 2 รายการให้กระเป๋าเบาเล่นอีก
          หลังจากสงบเสงี่ยมอยู่พักหนึ่ง เข้ารับการเช็คและเปลี่ยนสายพานไทมิ่ง ที่ 70000 กม. พอวิ่งได้ 71400 กม. (3 ปี 11 เดือน) คอมเพรสเซอร์แอร์ก็บอกลา และด้วยคอมเพรสเซอร์ใหม่ ราคา 40000 บาท!!! แอร์ก็กลับมาเย็นอีกครั้งหนึ่ง
          เม.ย. 41 ผ่านไป 4 ปี 3 เดือน รถมีอาการสตาร์ทไม่ติด ทิ้งไว้ข้ามคืนก็กลับมาสตาร์ทได้ หลังการตรวจเช็ค ทางศูนย์บริการคิดว่าสายไฟเลี้ยงไดสตาร์ทเสื่อม จึงเปลี่ยนเส้นใหม่ 2000 บาทเศษ อาการดีขึ้น 2 สัปดาห์ ก็กลับมาเป็นอีก นำเข้าไปใหม่ คราวนี้ศูนย์บอกว่า สายไฟไม่แน่น จัดการเรียบร้อย ก็ดีอยู่ 2 สัปดาห์ก็เป็นอีก
 
          ผู้เขียนได้ตรวจสอบภายในห้องเครื่องด้วยตัวเอง พบว่าสายไฟเกือบทั้งหมด เสื่อมสภาพ ปลอกสายไฟแตกร่อน เหลือสายทองแดงเปลีอย และบางส่วนสัมผัสกัน ทำให้เชื่อว่าอาจจะเกิด การลัดวงจรขึ้น จึงแจ้งให้ทางศูนย์ทราบ ทางศูนย์จึงตรวจดู และพันสายไฟบางเส้นใหม่ อาการดีขึ้น 2-3 สัปดาห์ ก็กลับมาอีก
          มิ.ย. 41 (79500 กม.) สตาร์ทไม่ติดอีก ศูนย์ราชเทวีเช็คแล้วบอกว่าสายไฟจากฟลายวีล เซ็นเซอร์เสื่อม เปลี่ยนชุดเซ็นเซอร์ใหม่ทั้งชุด 2000 กว่าบาท รถใช้งานได้ประมาณ 2 สัปดาห์ คราวนี้วิ่งๆอยู่ ดับไปกลางถนนเลย
          เมื่อนำเข้าศูนย์ที่นนทบุรี ทางศูนย์ตรวจเช็คสายไฟที่ชี้ให้ดูว่า กรอบแตกทั่วห้องเครื่อง แล้วจัดการพันให้ใหม่อีก ขณะนี้ผ่านมา 2 สัปดาห์แล้ว ยังไม่ดับกำลังลุ้นอยู่
          ขณะที่อาการสตาร์ทไม่ติดเริ่มดีขึ้น แอร์ก็เริ่มอาละวาดอีกครั้ง คราวนี้พบว่าท่อแอร์รั่ว เปลี่ยนใหม่ที่ 79600 กม. 17000 บาท เปลี่ยนได้ 10 วัน แอร์ไม่เย็นอีก ทางศูนย์คาดว่าคอยล์เย็นรั่ว กำลังรอตรวจสอบ โดยอัดน้ำยาใหม่ ถ้าไม่เย็นอีกก็จะต้องเปลี่ยน ด้วยราคาประมาณ 15000 บาท
          ในขณะเดียวกัน เกียร์ที่ใช้งานมาได้ดีระยะหนึ่งแล้ว ก็เริ่มพยศโดยออกอาการกระตุก ขณะเปลี่ยนเกียร์ ช่างคิดว่า สปีด เซ็นเซอร์ หมดอายุ กำลังรอเข้าตรวจเช็คพร้อมกันไปทีเดียว
  
          ขณะนี้ รถคันนี้ไม่สามารถนำไปขับใช้งาน ในระยะทางที่ไกลจากบ้านได้มากนัก เพราะไม่แน่ใจว่าจะเสียขึ้นมาเมื่อไหร่ และการลากรถเกียร์ออโต้กลับก็ไม่ง่ายนัก 
          เจ้าของรถพยายามติดต่อ ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริการของฟอร์ด หลายครั้ง เนื่องจากต้องการให้ช่างที่มีความชำนาญของบริษัท เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ และไม่มีคำตอบใดๆ  และฟอร์ดก็ไม่มีศูนย์บริการของบริษัทเองโดยตรง มีแต่ศูนย์ของดีลเลอร์ จึงยังต้องฝากความหวังไว้กับ การทดลองเปลี่ยนอุปกรณ์ในรถไปเรื่อยๆ ของช่างในศูนย์ของดีลเลอร์ต่อไป 
  
          และการเสื่อมสภาพของสายไฟในห้องเครื่อง หลังจากใช้งานมา 4 ปี (สมควรแก่เวลา?) โดยเฉพาะในจุดที่มองไม่เห็น  ก็ยังเป็นระเบิดเวลาที่อาจจะทำอันตรายกับรถยนต์ และผู้ขับขี่ได้ต่อไป
  
สรุป 
          วันที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับช่าง ที่ศูนย์แถวนนทบุรี ได้สอบถามถึงอาการ และความเสียหายต่างๆ และตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมจึงมีการเสื่อมสภาพ ของอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งสายไฟ และเซ็นเซอร์ต่างๆ รวดเร็วนัก ช่างมองหน้าแล้วบอกว่า รถใช้มาตั้ง 80000 กม. 4 ปีแล้ว ก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ แล้วก็เป็นกับมอนเดโอเกือบทุกคัน!
          ถ้าในยุคที่ รถยนต์พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต จนทำให้อายุเครื่องยนต์ไปแตะที่หลัก 200,000 กม.โดยไม่ต้องยกเครื่องกันแล้ว แต่กลับมาตายกันที่อุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ที่พร้อมใจกันหมดอายุเมื่อวิ่งไป 80,000 กม. แล้วคุณคิดว่า นี่ยังเป็นรถที่น่าใช้หรือไม่ครับ?
 
(หมายเหตุ  -   ทุกอย่างย่อมมีทั้งด้านมืด และด้านสว่าง รถคันนี้ อาจจะเป็น worst case ก็เป็นได้ และท่านที่มีประสบการณ์ที่ดี กับมอนเดโอ ก็เชิญถ่ายทอดสู่กันได้เช่นกันครับ)
 
Comment จากคุณ Somcharn (6/8/41)
          I  have  the  same  problem  with  Ford  Mondeo.  I  used  for  about
2  years. I  lost  the  money  for  repairation  about   150000  Baht.
The  weak  points  are  air conditioning  system  and  electronic
compartments.
 
Response จากฟอร์ด (3/8/41)
          ผมได้ติดต่อกับบริษัทฟอร์ด เพื่อทราบความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับการชี้แจง จากคุณนิรมล ที่รับผิดชอบศูนย์บริการในนนทบุรีว่า บริษัทยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่มีศูนย์บริการ เป็นของตนเอง ยังต้องพึ่งพาดีลเลอร์อยู่ แต่ลูกค้าที่มีปัญหากับการบริการหลังการขาย สามารถติดต่อเข้าไปที่ สำนักงานใหญ่ของฟอร์ด เพื่อรับการช่วยเหลือได้
          และแม้ว่าฟอร์ด มอนเดโอ รุ่นนี้ จะจัดจำหน่ายโดยตัวแทนอื่น ก่อนที่ฟอร์ดเซลส์ จะเข้ามาทำตลาด แต่ก็ยินดีให้บริการหลังการขาย
          ส่วนในเรื่องความไม่พร้อมของเครื่องมือ ยังให้คำตอบไม่ได้
 
          ก็ขอเชิญผู้ที่มีปัญหาคล้ายๆกันนี้ แจ้งเข้าไปที่ทาง ฟอร์ดเซลส์ ได้เลยครับ เสียงสะท้อนหลายๆเสียงย่อมจะดังขึ้นเรื่อยๆ จริงมั้ยครับ
 

มิตซูบิชิ สเปซวากอน
19 มิถุนายน 2538
ระยะทางใช้งาน 82,000 กม.

          รถคันนี้ซื้อมาในราคา 985,000 บาท (ราคาจริงก็คือ 1,035,000 บาทครับ แต่ทางบริษัทเขาลดให้ 50,000 บาท เพราะซื้อรถยี่ห้อนี้กับทางเค้าคันนี้คันที่ 4 แล้วครับ)
          เครื่องยนต์เป็น 2.0 ลิตร 16 วาล์ว 135 แรงม้า(DIN) เป็นเครื่องตัวเดียวกับ อัลติม่า ครับ

การใช้งาน
          เรื่องการบำรุงรักษา ตั้งแต่ออกมาจนกระทั่ง 40,000 กม. ไม่มีอะไรเสียครับ  เข้าเช็คตามปรกติ มาเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ 50,000กม.(เข้าปีที่สองครับ) ที่เปลี่ยนตอน 50,000 กม.ก็คือ

          1 โช้คอัพคู่หลัง (อันนี้ตอนออกรถมาผมเปลี่ยนโดยการเทียบเอาครับ จำยี่ห้อไม่ได้ เพราะช่วงล่างนิ่มเกินไป ผมเปลี่ยนทั้ง 4 ตัว แต่ 2 ตัวหลังดังก่อน)
          2 ยางรองแท่นเครื่อง 1 ตัว
          3 เช็คเครื่องตามปกติ
          4 สายพาน ไทม์มิ่ง
          ค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ประมาณ 11,000 บาทครับ

          60,000 กม. ก็เปลี่ยนอีกครับ คือยางรองแท่นเครื่องอีก 1 ตัว พร้อมเช็คเครื่องธรรมดา เปลี่ยนหัวเทียน กรองอากาศ ค่าใช้จ่าย 13,000 บาทครับ หลังจากนั้น ช่วงล่างผมเริ่มมีเสียงดังกุกกัก เวลาลงหลุมแล้ว ผมเอาเข้าเช็คที่มิตซู อินเตอร์ ประชาชื่น แล้วก็ศูนย์ที่บางบัวทอง แต่หาสาเหตุไม่พบครับ ช่วงนี้ขับไปก็ผวาไปเหมือนกัน

          หลังจากนั้นผมเอารถเข้าไปตั้งศูนย์ถ่วงล้อ ที่ร้านแถวบ้าน ช่างเขาบอกผมว่า ยางหุ้มเพลาขับ และก็ลูกหมากต่างๆเริ่มไปหมดแล้ว ช่วงนี้รถมีอาการกินซ้าย ตั้งศูนย์ออกมาได้สักพักก็ดึงอีก

          75,000 กม. ผมนำรถเข้าศูนย์ที่มิตซูอินเตอร์ ประชาชื่น เพื่อซ่อมช่วงล่างทั้งหมด แค่ช่วงล่างอย่างเดียวหมดไป 20,000 บาทครับ

          เรื่องศูนย์บริการ ของผมมีปัญหาเหมือนกัน เพราะรถผมเป็นรถนำเข้าที่มียอดจำหน่ายไม่สูงนัก บริษัทจึงไม่ค่อยสต็อกอะหลั่ย เข้าศูนย์แต่ละทีใช้เวลาอย่างต่ำ 1 สัปดาห์ทุกครั้ง(ตั้งแต่ 50,000 กม. ครับ เพราะเขาบอกว่า ต้องไปเบิกอะหลั่ยที่ศูนย์ใหญ่)

          ที่หนักกว่านั้น ก็คือตอนนั้นรถผมโดนชนท้าย และก็พุ่งไปสะกิดคันหน้า โชคดีที่รถผมมีคานกันชน รถผมเสียหายเฉพาะกันชนหน้าหลัง และก็ประตูบานที่ 5 บุบนิดหน่อย แต่คู่กรณี เป็นมิตซูเหมือนกัน ฝากระโปรงหน้างอเป็นรูป ตัวซีเลย พอเอาเข้าอู่ทำสีเรียบร้อย ปรากฎว่า ต้องรออะหลั่ยคือตัวกันชนหน้าหลัง เป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ เพราะต้องสั่งเข้ามาจากญี่ปุ่น

          เรื่องการทรงตัว ทางตรงก็ใช้ได้ครับ แต่เวลาเข้าโค้งมันเอียงค่อนข้างมาก ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจเลย

          สมรรถนะ คันเร่งเบามาก อัตราเร่งใช้ได้ ความเร็วสูงสุดทำได้ 160 ครับ ในคู่มือระบุว่า 175 กม./ชม. การทำงานของระบบเกียร์อัตโนมัติ นิ่มนวลดีครับ เปลี่ยนเกียร์แทบไม่รู้สึก อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ในเมืองทำได้ประมาณ 5 - 7 กม./ลิตรครับ ถ้าวิ่งต่างจังหวัดที่ความเร็วค่อนข้างคงที่ 120 กม./ชม. ทำได้ประมาณ 11.8 กม./ลิตรครับ ถ้าอัดด้วยความเร็วที่ 140 - 160 กม./ชม. โดยจะอยู่ที่ 140 มากกว่าจะดูดน้ำมันที่ 8 กม./ลิตรครับ

          อีกอย่างคือ ช่วงล่างเก็บเสียงได้ไม่ไดี เวลาเจอรอยต่อถนน ต่างๆ ทางขรุขระจะมีเสียงเข้ามาตลอด และตอนนี้อุปกรณ์ภายในเริ่ม อย่าง ฝาครอบเสากลางด้านคนขับ  กลอนภายในประตูด้านคนขับ จะมีเสียงดังเบาๆตลอดครับ อีกเรื่องคือ เสียงลมครับเป็นตั้งแต่ออกมาเลย พอวิ่งตั้งแต่ 60 กม./ชม.ขึ้นไป จะมีเสียงลมเข้ามาทางประตูบานหน้า 2 บาน

          สิ่งที่ประทับใจเจ้ารถคันนี้ก็คือ ความกว้างขวางของห้องโดยสารครับ นั่งกันได้ 7 คนสบายๆ (บ้านผมสมาชิก 6 คนครับ) เบาะหน้านั่งสบายกว่า เจ้า CIVIC ตาโตครับ นั่งไกลๆไม่เมื่อยเหมือนเจ้าตาโต

(ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ "b4117333@kkucc1.kku.ac.th")


วอลโว่ 960 2.4 24 วาล์ว

ตุลาคม 1995
ระยะทางใช้งาน 85,000 กม.

การใช้งาน
          รถคันนี้ซื้อเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1995 ครับ เป็นวอลโว่ 960 2.4 24V ครับ แต่คันนี้ผมไม่ได้ขับครับ แต่อยากจะเล่าถึงเรื่องการบำรุงรักษาให้ฟังครับ คันนี้ก่อนขายใช้ไปประมาณ 85,000 กม. ใช้มา 1 ปีกับอีก 3 เดือนครับ รถคันนี้วิ่งค่อนข้างหนักมากครับ อย่างต่ำวันละ 120 กม.ครับ

          ตั้งแต่ออกมาเลย รถมีอาการโอเวอร์ฮีทครับ เข้าศูนย์ 2 ครั้งครับถึงจะพบสาเหตุ สาเหตุก็คือสายกราวนด์หลุดครับ (ลืมบอกไป คันนี้ซื้อและเข้ารับบริการที่ วอลโว่ พหลโยธินครับ)

          ผลจากการโอเวอร์ฮีทคราวนั้นทำให้
          - ถังเก็บน้ำล้างกระจกรั่ว
          - ถังน้ำมันร้าว
          - และยังมีตามมาอีกหลายอย่างครับ
 
          หลังจากนั้น 2 เดือน ขณะวิ่งอยู่บนทางด่วน รถเกิดอาการเครื่องสั่นมากครับโดยไม่มีสาเหตุ เหมือนเครื่องเดินไม่เต็มสูบ นำรถเข้าศูนย์ดาวคะนอง ตรวจเช็คพบว่าสูบที่ 3 ไม่ทำงานครับ ต้องลากกลับมาที่ศูนย์พหลโยธินครับ ปรากฎว่าสาเหตุเกิดจากแหวนหักครับ งานนี้เคลมบริษัทไป
 
          ตั้งแต่ออกรถมารถคันนี้มีอาการกินน้ำมันเครื่องผิดปกติครับ เอาเข้าศูนย์ตรวจเช็คดู เขาบอกว่า ถ้ากินน้ำมัน 0.45 ลิตร/1,000 กม. ขึ้นไปถึงจะผิดปกติ แต่คันของผมกิน 0.23 ลิตร/1,000 กม. ถือว่าปกติ ฟังแล้วก็งงครับ คันอื่นที่ใช้มาไม่เห็นเคยมีอาการนี้เลย

          หม้อน้ำที่ทำด้วยอลูมิเนียม รั่ว บ่อยมากครับ เปลี่ยนไปทั้งหมด 3 ครั้ง รั่วโดยไม่ทราบสาเหตุครับ แต่คุณพ่อผมใช้วิธีเคลม
เอากับประกันภัย อ้างว่าเป็นอุบัติเหตุครับ(ตอนซื้อเขาแถมประกันชั้น 1 ฟรี 1 ปีครับ)

          ใช้งานมาได้ 10,000 กม.เศษ เกียร์อัตโนมัติ รวนครับ คือเกียร์ไม่ค่อยจะยอมเข้าเกียร์ 4 ให้ครับ พอถึงจังหวะที่จะเข้า รอบเครื่องจะพุ่งขึ้นครับ แต่เกียร์ไม่เข้า นำเข้าศูนย์ตรวจเช็ค พร้อมกับขอเคลมทางบริษัทอ้างหน้าตาเฉยครับ ว่า เกิดจากการรันอินไม่ดี แต่เถียงไปเถียงมาจนยอมเคลมให้ครับ(ซ่อม ครับ ไม่ได้เปลี่ยนลูกใหม่)

          หลังจากนั้นใช้มาได้ 50,000 กม. เกียร์มีปัญหาอีกครับ คือเข้าเกียร์ D แล้วรถไม่วิ่งครับ ตรวจสอบพบว่าเกิดจาก ออยคูลเลอร์ของเกียร์ซึ่งจะอยู่รวมกับหม้อน้ำ เกิดรั่ว ทำให้น้ำ เข้าห้องเกียร์ งานนี้เคลมไม่ได้ครับ หมดไป 20,000 บาทเศษ ครับ

           จากการที่มันรวนอย่างงี้ก็เลยคิดจะขายทิ้งครับ เลยเอาไป ฝากเซลล์ขาย ปรากฎว่าขายไม่ได้จอดอยู่ 1 เดือน จึงได้รับรถกลับมา แทบช็อคครับ รถมีอาการกินซ้าย ช่วงล่างหลังมีเสียงดัง นำเข้าศูนย์ตรวจเช็ค พบว่า แร็คพวงมาลัยคด ค่าใช้ง่าย 70,000 บาทครับ ช่วงล่างด้านหลังปีกนกหลวม ค่าใช้จ่าย 10,000 บาท แร็คพวงมาลัยใช้วิธีเดิมครับ
คือเคลมประกัน (งานนี้คุ้มเหลือจะคุ้มครับ) ส่วนช่วงล่างจ่ายเองครับ

           ใช้มาจนกระทั่ง 80,000 กม. พักนั้นน้ำในหม้อน้ำ ลดเร็วผิดสังเกตุ แต่หาสาเหตุไม่พบ วันนั้นอยู่บนถนนรัตนาธิเบศร์ เกิดมีควันออกมาจากฝากระโปรงหน้าเต็มไปหมด จึงนำรถเข้าปั๊มน้ำมัน แล้วรีบถอดขั้วแบ็ตครับ แล้วเรียกบริการฉุกเฉิน ครวจสอบแล้วพัดลมไฟฟ้าพังต้องเปลี่ยนใหม่ ค่าใช้จ่าย 10,000 บาทครับ

            ช่วงนั้นเผอิญเศรษฐกิจเริ่มแย่แล้วจึงขายทิ้งไปครับ
 
            เรื่องศูนย์บริการ ต้องนัดล่วงหน้าครับเพื่อจองคิว ซึ่งจะต้องรอคิวราว 1 สัดาห์ครับ ซึ่งถ้าเ็นการตรวจเช็คธรรมดาก็ไม่
มีปัญหาครับ แต่เจ้าคันนี้มันรวนเก่ง อย่างตอนเกียร์มีปัญหา ต้องรอคิวอยู่สัปดาห์กว่า รถก็ไม่กล้านำออกไปวิ่ง ยังดีที่มีรถอีกคัน

            เรื่องตัวรถไม่น่าประทับใจครับ ที่น่าประทับใจมีเรื่องเดียวคือ ความแข็งแรงครับ ตัวกันชนดูแล้วก็เป็นไฟเบอร์บางๆธรรมดา แต่เวลาโดนชนกลับไม่เป็นอะไรเลย แค่สีถลอก เคยโดนปิคอัพใส่เหล็กก้ามปู กันกระแทกด้านหน้า ชนท้ายครับ ผลก็คือ กันชนผมสีถลอกนิดหน่อย แต่รถปิคอัพนั้นกันชนยุบเข้าไปเลยครับ สอบถามทางบริษัทได้ความว่า กันชนของรถรุ่นนี้จะมีโช้คอัพซับแรงกระแทกครับ

(ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ "b4117333@kkucc1.kku.ac.th")