เข็มขัดนิรภัย
เข็มขัดนิรภัย  ในสตรีมีครรภ์ 
 
          อาจจะมีบางคน  ตั้งข้อสงสัยถึงการใช้เข็มขัดนิรภัยในสตรีมีครรภ์  ว่าจะเกิดผลเสียต่อเด็กในท้อง  หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นหรือไม่  ลองหาคำตอบกันดูครับ
          โดยทั่วไป  เด็กในครรภ์จะอยู่ภายในมดลูก และระหว่างผนังมดลูกกับตัวเด็ก จะมีน้ำคร่ำอยู่โดยรอบ ซึ่งน้ำคร่ำนี้นอกจากจะทำหน้าที่เกี่ยวกับ กระบวนการชีวภาพต่างๆ ในร่างกายเด็ก ยังทำหน้าที่รับและกระจายแรงกระแทกที่มีต่อแม่ ให้ทุเลาเบาบางลง ก่อนจะถึงตัวเด็ก
          แต่แม้ว่าแรงกระแทกที่เข้ามาสู่หน้าท้องแม่จะไม่ทำอันตรายต่อเด็ก แต่อาจจะไปทำให้รก เกิดการฉีกขาดแยกตัวออกจากมดลูก (Abruptio Placentae) ซึ่งภาวะดังกล่าว จะทำให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อเด็กในท้อง และต่อแม่เองได้
 
เมื่อคุณแม่ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย
          เป็นที่ยอมรับกันว่า  สตรีตั้งครรภ์ ยังจำเป็นต้องใช้เข็มขัดนิรภัย  มีการศึกษาพบว่า  จากจำนวนสตรีมีครรภ์  ที่ได้รับอุบัติเหตุในรถยนต์ 2592 คน  แบ่งเป็นฝ่ายที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 1349 คน  พบว่า  แม่ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย  มีอัตราเสี่ยง 1.9 เท่าที่จะให้กำเนิดลูก ซึ่งมีส้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ  และมีอัตราเสี่ยงที่จะแท้งภายใน 48 ชม.ให้หลังสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง 2.3 เท่า
          และจากอุบัติเหตุที่รวบรวมทั้ง 2592 รายนี้ มีทารกเสียชีวิตในครรภ์ 9 ราย  โดย 7 ใน 9 ราย เกิดในแม่ที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย
          ปัจจัยหนึ่งที่ต้องคิดถึงคือ  แม้แม่จะไม่ได้รับการกระแทกที่ท้องอย่างรุนแรง  แต่ถ้าแม่ได้รับบาดเจ็บบริเวณอื่น  และเสียเลือดมาก  ทำให้ระบบยังชีพของแม่ทำงานไม่เพียงพอ  เลือดที่จะไปสู่ลูกก็ย่อมน้อยลง  จนทำให้เด็กในท้องอยู่ในภาวะวิกฤติได้
 
ใส่เข็มขัดอย่างไรดี
          การใส่ที่ถูกต้องคือ  ให้สายพาดเอว  อยู่ต่ำกว่าหน้าท้องลงมา โดยพาดผ่านหน้าต่อข้อสะโพกทั้งสองข้าง  ห้ามคาดสูงกว่าหน้าท้องที่ยื่นออกมาเด็ดขาด  ส่วนสายพาดไหล่  พาดทับค่อนไปทางเหนือหน้าท้อง  วิธีนี้เชื่อว่า  จะกระจายแรงกระแทก ที่เกิดจากการกระชากกลับของเข็มขัดนิรภัย ไปตามลำตัวของแม่  และที่สำคัญถ้านั่งในรถที่มีแอร์แบ็ก  ต้องวางระยะห่างให้ดี  ไม่ให้แอร์แบ็ก พุ่งมากระแทกกับหน้าท้องอย่างจังได้
          ขณะนี้ นักวิจัยกำลังสร้างหุ่นทดสอบ  ที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ขึ้น  โดยหวังว่าในอนาคต  จะมีระบบยึดรั้ง (Restraint System) ในรถยนต์  ที่ออกแบบมาสำหรับให้ความปลอดภัยกับ หญิงมีครรภ์โดยเฉพาะได้สำเร็จ
 
          ขอให้ระลึกเสมอว่า  ความปลอดภัยของลูก  ขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของแม่ - The unborn child's safety depends on its mother's safety 
 


 
เข็มขัดนิรภัย…ในที่นั่งตอนหลัง
 
               ถ้าจะพูดถึงกรณีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า ที่เป็นข่าวสะเทือนไปทั้งโลก มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงอุบัติเหตุครั้งนี้ในหลายๆแง่มุม   รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยของรถยนต์ และการโดยสารรถยนต์เช่นกัน  รายแรกที่โดนกระทบเข้าไปเต็มๆตั้งแต่แรกคือ เมอร์เซเดส เบนซ์ นั้น  ถึงกับต้องรีบออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องภาพพจน์ในด้านความปลอดภัย
                อีกประเด็นที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตคือการใช้เข็มขัดนิรภัย  ซึ่งจากกรณีอุบัติเหตุครั้งนี้ ก่อให้เกิดกระแสการรณรงค์เรื่องเข็มขัดนิรภัยขึ้นอีกครั้งในหลายๆประเทศ  จากข้อมูลระบุว่า มีเพียงองครักษ์ที่รอดชีวิตผู้เดียวเท่านั้น ที่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะเกิดเหตุ ในขณะที่อีก 3 ท่านในรถไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย     สำหรับผู้ขับขี่รถคันดังกล่าวแม้ว่าจะมีถุงลมนิรภัยมารองรับ  แต่ด้วยความเร็วในการชนระดับสูงมากขนาดน ี้ก็คงจะไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้   และคงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ถุงลมนิรภัยจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด  ต้องควบคู่กับการรัดเข็มขัดนิรภัยเสมอ
                จุดที่น่าสนใจสำหรับการใช้เข็มขัดนิรภัยได้แก่ผู้ซึ่งอยู่ในที่นั่งตอนหลัง แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่นิยมเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ก็ยังไม่มีรายงานถึงตัวเลขจำนวนผู้ที่คาด หรือไม่คาดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งหลังนี้    เป็นที่น่าสังเกตว่าการรณรงค์ให้ใช้เข็มขัดนิรภัย
มักจะเน้นกันที่บริเวณที่นั่งตอนหน้าทั้งสองเป็นหลัก
                 ข้อมูลในที่เกิดเหตุพบว่านายอัล ฟาเยด นั้น กระเด็นออกมาเสียชีวิตนอกรถ เนื่องจากแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจากการชน  ซึ่งในกรณีนี้ถ้าหากคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ คงจะมีโอกาสป้องกันการหลุดกระเด็นออกมาได้พอสมควร   ส่วนในกรณีของผู้ที่อยู่ในที่นั่งตอนหลัง
ซึ่งคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วไม่ถูกเหวี่ยงออกนอกตัวรถ  จะมีโอกาสรอดชีวิตหรือไม่นั้น  คงต้องขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการชน        อย่างน้อยที่สุดเข็มขัดนิรภัยจะรั้งไว้ ไม่ให้ผู้โดยสารพุ่งไปกระแทกกับวัตถุรอบๆตัวภายในรถยนต์  อันได้แก่พนักพิงเบาะหน้า  หรือแผงประตูด้านข้างเป็นต้น  อันเป็นสาเหตุให้เกิดการฉีกขาดของอวัยวะภายในร่างกายได้  (BLUNT  TRAUMATIC  INJURY)  ซี่งในกรณีของเจ้าหญิงไดอาน่า  มีรายงานระบุว่ามิได้ถูกเหวี่ยงออกนอกตัวรถยนต์  และตามร่างกายมีบาดแผลภายนอกเพียงเล็กน้อย ไม่มีบาดแผลฉกรรจ์ แต่มีการสูญเสียโลหิตอยู่ภายในทรวงอกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเส้นโลหิตดำในช่องปอดฉีกขาด  จนทำให้พระองค์เกิดการช็อคและสิ้นพระชนม์ในที่สุด
                มีผู้ประมาณตัวเลขไว้ว่าในกรณีที่ผู้โดยสารในที่นั่งตอนหลัง พุ่งมากระแทกกับพนักพิงของผู้ที่นั่งในที่นั่งหน้านั้น  อาจจะก่อให้เกิด แรงกระแทกกับพนักพิงในขนาดสูงถึง   1 ตันหรือมากกว่านั้น  ขึ้นอยู่กับโมเมนตัมที่เกิดจากผู้โดยสาร
ซึ่งนั่งอยู่ด้านหลัง  ตัวแปรที่สำคัญตัวหนึ่งต่อค่าโมเมนตัมนี้ก็คือ ความเร็วของรถขณะเกิดอุบัติเหตุนั่นเอง
                ระดับความรุนแรงของการกระแทกขนาดนี้ นอกจากจะทำอันตรายต่อตัวผู้ที่นั่งด้านหลังเองอย่างแน่นอนแล้ว
ยังจะมีผลต่อผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารด้านหน้าอีกด้วยแม้ว่าจะคาดเข็มขัดนิรภัยไว้  เนื่องจากผู้ที่อยู่ด้านหน้าจะตกอยู่ในสภาพที่ถูกบีบอัดจากแรงกระชากรั้งของเข็มขัดนิรภัย  และแรงกระแทกที่พนักพิงร่วมกัน
                เคยมีการกล่าวถึงอุบัติเหตุรายหนึ่งไว้ว่า  หลังจากรถยนต์เกิดอุบัติเหตุชนกันขึ้น  ตัวผู้โดยสารซึ่งนั่งอยู่ที่นั่งด้านหลังพุ่งกระเด็นไปด้านหน้าจนกระแทกกับกระจกหน้ารถ  ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง  เป็นตัวอย่างอันดีชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึง
ความรุนแรงของโมเมนตัมที่ส่งตัวผู้โดยสารไปด้านหน้าจากการชน
                แม้ว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งหลังมักไม่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้รถยนต์กันมากนัก แต่เชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงความปลอดภัยในจุดนี้  จากรถยนต์รุ่นเก่าๆที่ติดตั้งเพียงเข็มขัดนิรภัยที่นั่งหลังแบบ 2 จุด 2 ที่นั่งเท่านั้น
มาถึงรุ่นหลังๆนี้เกือบทั้งหมดเป็นเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด  และในหลายๆรุ่นยังได้เพิ่มเติมให้ในที่นั่งส่วนกลางรวมเป็น 3 ที่นั่งอีกด้วย  ซึ่งรวมไปถึงการติดตั้งหมอนพิงศีรษะในที่นั่งกลางเพื่อป้องกัน WHIPLASH  INJURY ด้วยเช่นกัน
                ในเมื่อปัจจุบันเราเริ่มรณรงค์ให้คาดเข็มขัดนิรภัยกันแล้ว  สำหรับผู้ที่มีโอกาสนั่งด้านหลังเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะละเลย
ความปลอดภัยข้อนี้ไปด้วย  โดยเฉพาะถ้าเป็นการโดยสารรถยนต์ในเส้นทางที่ต้องใช้ความเร็วสูง  เช่นในการขับทางไกลในต่างจังหวัด  อุบัติเหตุรุนแรงที่คาดไม่ถึงมีโอกาสเกิดได้เสมอ  และคุณอาจจะได้รับการปกป้องจากเข็มขัดนิรภัยอย่างที่คุณคาดไม่ถึงด้วยเช่นกัน



 
การบาดเจ็บที่หน้าอก  จากเข็มขัดนิรภัย

                การบาดเจ็บต่อร่างกายมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน  ถ้าหากว่าอวัยวะชิ้นนั้นๆได้รับแรงกระแทกที่มาก เกินกว่าโครงสร้างบริเวณนั้นของร่างกายจะสามารถรับได้
                เนื่องจากรถยนต์เป็นวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง  เมื่อเกิดการชนจนทำให้หยุดกะทันหัน โมเมนตัมที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความเร็วอย่างทันทีทันใด จะทำให้อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆน้อยๆที่มองดูไม่น่าจะมีพิษภัย  ก็สามารถก่อแรงกระแทก
ขนาดมโหฬารต่อร่างกายได้
                เข็มขัดนิรภัยในยุคเริ่มแรก  เป็นเพียงสายรั้งตัวธรรมดาที่ไม่มีกลไกซับซ้อนใดๆเข้ามายุ่งเกี่ยว  ผลที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถทำการยึดรั้งร่างกายได้ดีพอ  เนื่องจากยังมีความหย่อนตัวเกิดขึ้น  ทำให้ร่างกายผู้ขับขี่หรือผู้โดยสารยังพุ่งไปด้านหน้าได้  การพัฒนาต่อมาจึงเพิ่มกลไกการดึงกลับ เพื่อให้สายเข็มขัดกระชับตัวมากขึ้นในจังหวะที่เข็มขัดนิรภัยทำงาน
                ระบบการดึงกลับที่พัฒนาขึ้นมามีอยู่ 3-4 แบบ  แต่ที่คุ้นกันดีคงจะเป็นระบบ PRETENSION   ไม่ว่าจะระบบไหนก็ตาม เป้าหมายคือ ต้องการให้สายเข็มขัดมีการกระชากกลับ เพื่อยึดตัวผู้ที่อยู่ในที่นั่งให้มั่นคง  ลดโอกาสเกิดการเสียชีวิตลงไปได้มาก  แต่ผลที่อาจจะตามมาคือการบาดเจ็บของบริเวณหน้าอกเอง  ถ้าแรงกระชากกลับมีมากจนเกินไป

                ในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บจากรถยนต์ในประเทศอังกฤษชิ้นหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าในอุบัติเหตุรุนแรงจำนวน 3,276 รายนั้น  มีผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าอกเล็กน้อย (MILD INJURY) จากเข็มขัดนิรภัย (SEATBELT LOADING) เกิดขึ้น 29.6 เปอร์เซ็นต์   ระดับปานกลาง 19.4 เปอร์เซ็นต์  และระดับรุนแรง 4.5 เปอร์เซ็นต์    การบาดเจ็บที่พบบ่อยคือกระดูกหน้าอกหัก (STERNAL FRACTURE) ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ป่วยได้
                ยังมีรายงานผู้ป่วย (CASE REPORT) จากอเมริกาอีกชิ้นหนึ่ง  ซึ่งพบว่าผู้ป่วยจากรถชนกันที่ความเร็วสูงมาก 1 ราย  ได้รับบาดเจ็บโดยมีเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งออกมาจากหัวใจ (AORTA) ฉีกขาด  ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าน่าจะเกิดจาก แรงกระชากที่เกิดจากการดึงกลับของเข็มขัดนิรภัย  ทำให้เกิดความดันขนาดสูงขึ้นในช่องทรวงอกและเกิดการแกว่งตัวของหัวใจ จนทำให้บริเวณขั้วของหลอดเลือดดังกล่าวฉีกขาด
                ถ้านึกไม่ออกว่าแรงกระชากที่ว่ารุนแรงขนาดไหน  การทดสอบการชนรถยนต์รุ่นหนึ่งพบว่า แรงกระชากที่กระทำต่อหน้าอกหุ่นทดสอบซึ่งเกิดจากเข็มขัดนิรภัย  ขณะที่รถพุ่งเข้าชนสิ่งกีดขวาง  วัดได้ถึง 8,000 นิวตัน  หรือประมาณ 800 กิโลกรัม !!
                อย่างไรก็ตาม  ทุกท่านคงตระหนักดีว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมาอาจจะแปรสภาพเป็นผู้เสียชีวิต  ถ้าหากไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย   ไม่ควรเข้าใจผิดว่าเข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มการบาดเจ็บต่อร่างกาย
นอกจากนั้น  จุดอ่อนเล็กน้อยของเข็มขัดนิรภัยนี้กำลังได้รับการแก้ไขโดยบริษัทรถยนต์หลายบริษัท  ซึ่งอีกไม่นานคงจะเริ่มวางตลาด ตัวอย่างชิ้นหนึ่งคือ  ระบบ AIR BELT ของฮอนด้า  เป็นถุงลมขนาดเล็กซึ่งติดตั้งอยู่กับสายคาดลำตัวตั้งแต่หัวไหล่ลงมา  ถุงลมนี้จะทำงานเมื่อเซ็นเซอร์ถูกกระตุ้น  และจะช่วยดูดซับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นต่อหน้าอก
                 อีกระบบหนึ่ง  เป็นของโตโยต้า  ซึ่งมีการติดตั้งในรถยนต์เลกซัสแล้ว  รวมไปถึงรุ่นอื่นๆที่จะวางตลาดในอเมริกา  เป็นการปรับปรุงระบบการทำงานแบบ PRETENSION เดิม  โตโยต้าเรียกระบบใหม่นี้ว่า  PRE-TENSIONERS WITH FORCE LIMITING SEATBELTS  ระบบนี้จะลดเวลาการตอบสนองของ PRETENSION ลง  นั่นคือเข็มขัดนิรภัยจะทำงานเร็วขึ้น  แต่ก็จะมีกลไกลดแรงกระชากลง ซึ่งจะค่อยๆทำงานโดยมีแท่งโลหะอลูมิเนียมเป็นเหมือนตัวตรวจสอบแรงกระชาก  ถ้าแรงกระชากสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้  แท่งอลูมิเนียมดังกล่าวจะค่อยๆยุบตัว  แรงกระแทกต่อหน้าอกส่วนหนึ่งจึงถูกดูดซับลงไป ไม่กระแทกไปที่หน้าอกอย่างรุนแรงทันทีทันใดเหมือนระบบเดิมๆ    โอกาสที่ซี่โครงจะหัก  หรือปอดฉีกขาดก็จะลดลงไปด้วย
                 แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ยังต้องรอเวลาที่จะมาสู่ผู้ใช้งานอย่างเราๆท่านๆ  ่ในปัจจุบันนี้เข็มขัดนิรภัยที่ใช้กันอยู่ก็ยังไว้วางใจได้ดี
และไม่ควรละเลยการคาดเด็ดขาด  ไม่เช่นนั้นอาจจะมีผลต่อความปลอดภัยของท่านเอง  รวมไปถึงต้องเสียค่าปรับโดยไม่จำเป็นอีกด้วย !